เทศบาลเมืองหนองคาย จัดการแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม “ประทีปนาคา บูชาพระสัพพัญญู” มีฉากหลังเป็นจอแอลอีดีขนาดใหญ่ มีการนำภาพ 3D มาประกอบการแสดง ซึ่งการแสดงมีทั้งหมด 4 องค์ เป็นการเล่าเรื่องราวความเป็นมาทั้งหมดของหนองคาย เริ่มตั้งแต่ตำนาน ประเพณี มาจนถึงปัจจุบัน ใช้นักแสดงกว่า 150 คน ใช้เวลาในการแสดงกว่า 1 ชั่วโมง

 

เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (8 ตุลาคม 2565) ณ เวทีการแสดง แสง สี เสียง สื่อผสม ลานวัฒนธรรมริมแม่น้ำโขง บริเวณชุมชนโพธิ์ศรี อ.เมือง จ.หนองคาย นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีออกพรรษาและเทศกาลบั้งไฟพญานาค ประจำปี 2565

นายอุรุยศ เอียสกุล นายกเทศมนตรีเมืองหนองคาย กล่าวว่า เทศบาลเมืองหนองคาย ร่วมกับ อบจ.หนองคาย ส่วนราชการต่าง ๆ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย จัดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 7 – 13 ตุลาคม 2565 ณ บริเวณวัดหายโศก ลานวัฒนธรรมริมฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่หน้าวัดลำดวนถึงพระธาตุหล้าหนอง และภายในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย กิจกรรมที่สำคัญภายในงานประกอบ พิธีบวงสรวงและรำบูชาพญานาค การแสดง แสง สี เสียง จากนักเรียนโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองหนองคาย พิธีบวงสรวงเจ้าแม่สองนาง พิธีบวงสรวงพระธาตุกลางน้ำ พิธียกฉัตรพระธาตุหล้าหนอง (พระธาตุกลางน้ำจำลอง) กิจกรรมตักบาตรเทโวโรหนะ กิจรรมถนนอาหาร กิจกรรมถนนคนเดิน กิจกรรมแข่งเรือประเพณี กิจกรรมลอยกระโป๋ไฟบูชาพระแม่คงคา กิจกรรมชกมวยแมกไม้มวยไทย และกิจกรรมอื่น ๆ อีกหลากหลายกิจกรรม

ภายหลังพิธีเปิดฯ ก็มีการแสดงของนักเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองหนองคาย ก่อนจะมีการแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม ที่มีชื่อว่า “ประทีปนาคา บูชาพระสัพพัญญู” ที่หมายถึงลูกไฟขององค์พญานาคที่พ่นขึ้นมาเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า มีฉากหลังเป็นจอแอลอีดีขนาดใหญ่ มีการนำภาพ 3D มาประกอบการแสดง เพื่อให้ฉากมีความสมจริง เคลื่อนที่ได้ ที่ถือเป็นกิจกรรมที่เป็นไฮไลต์ของงานประเพณีออกพรรษาและเทศกาลบั้งไฟพญานาค ประจำปี 2565 การแสดงประกอบไปด้วย 4 องค์ เป็นการเล่าเรื่องราวความเป็นมาทั้งหมดของหนองคาย เริ่มตั้งแต่ตำนาน ประเพณี มาจนถึงปัจจุบัน องค์ที่ 1 ว่าด้วยเรื่องการเกิดแม่น้ำโขง องค์ที่ 2 วิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขง ที่จะผูกวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงเข้ากับความเชื่อเรื่องพญานาค เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับพญานาคทั้ง 4 ตระกูล ผูกต่อรวมไปกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวหนองคาย คือพระสุก พระเสริม พระใส และพระธาตุหล้าหนอง ที่มีองค์พญานาครักษา องค์ที่ 3 เป็นตำนานของ “บั้งไฟพญานาค” เป็นความเชื่อเรื่องของการเกิด “บั้งไฟพญานาค” และองค์ที่ 4 เป็นประเพณีออกพรรษาของจังหวัดหนองคาย การแสดงทั้ง 4 องค์จะมีเวลาแตกต่างกันออกไป แต่องค์ที่พิเศษคือองค์ที่ 2 และองค์ที่ 3 ที่เป็นเรื่องราวของพญานาคและบั้งไฟพญานาค รวมแล้วใช้เวลาในการแสดงประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้นักแสดงที่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและบุคลกรจากโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองหนองคาย โดยเฉพาะโรงเรียนเทศบาล 1 สว่างวิทยา และโรงเรียนเทศบาล 3 ยุวบูรณ์บำรุง กว่า 150 คน