รู้จัก ‘สไตรีนโมโนเมอร์’ สารเคมีอันตรายสูงรั่วไหล หลังเหตุระเบิดเพลิงไหม้ โรงงานหมิงตี้ ย่านกิ่งแก้ว พร้อมวิธีปฏิบัติกู้ภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน

เหตุการณ์ระเบิดและเพลิงไหม้ของโรงงาน หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ทำให้ขณะนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศอพยพประชาชนใกล้เคียงในรัศมี 5 กิโลเมตร ออกจากพื้นที่

ด้านกรมอนามัยประกาศเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ ซ.กิ่งแก้ว 21 ม.15 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อเลี่ยงการสูดดมกลิ่นควันไฟจากโรงงานโฟมระเบิด เนื่องจากเป็นสารเคมี ‘สไตรีนโมโนเมอร์’ ซึ่งเป็นสารอันตรายต่อร่างกายและเป็นสารก่อมะเร็ง

แล้ว ‘สไตรีนโมโนเมอร์’ คือสารเคมีอะไร

ทีมข่าวออนไลน์ช่อง 8 สืบค้นข้อมูลจาก คู่มือการจัดการสารเคมีอันตรายสูง สไตรีนโมโนเมอร์ ( Styrene monomer) ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า ประเทศไทยมีการใช้สไตรีนโมโนเมอร์มาผลิตโพลีสไตรีน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลางและใช้มากในอุตสาหกรรมผลิตโพลิเมอร์สังเคราะห์ต่าง ๆ เช่น พลาสติกโพลีสไตรีน (กล่องบรรจุภัณฑ์ ฉนวน กล่องเทปคาสเซ็ท) รับเบอร์ กาวลาเทกซ์

ที่ผ่านมา ประเทศไทยนำเข้าสไตรีนโมโนเมอร์ เพื่อให้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ระหว่างปี พ.ศ. 2547-2552 พบว่ามีแนวโน้มการนำเข้าลดลง จาก 100,918 ตัน ในปี พ.ศ.2547 เหลือเพียง 15,551 ตัน ในสามเดือนแรกของปี พ.ศ.2552

ทั้งนี้ สารดังกล่าว ถือว่าเป็นของเหลวไวไฟ อาจเกิดปฏิกิริยาโพลีเมอไรเซซันรุนแรง ลุกติดไฟ ระเบิดได้เมื่อมีความร้อนหรือเมื่อมีไฟ และไอระเหยจะหนักกว่าอากาศ แน่นอนว่า อันตรายเมื่อสูดดม จะก่อให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้ไอและหายใจลำบาก เมื่อดูดซึมจนถึงระดับทำให้เกิดพิษ ทำให้ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ง่วงซึม

ด้วยเหตุนี้การระงับเหตุฉุกเฉินจึงมีความสำคัญ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม อ้างอิงมาตรฐานในการระงับเหตุฉุกเฉินตาม North American Emergency Response Guidebook

กรณีเกิดเพลิงไหม้เล็กน้อย ให้ใช้ผงเคมีแห้ง คาร์บอนไดออกไซด์ โฟม หรือฉีดน้ำเป็นฝอย แต่กรณีเหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าเป็นเหตุเพลิงไหม้รุนแรง ควรใช้ผงเคมีแห้ง คาร์บอนไดออกไซด์ หรือโฟมดับเพลิง และให้ฉีดน้ำเป็นฝอยเพื่อหล่อเย็นให้กับถังเก็บ ห้ามใช้น้ำฉีดไปยังบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้โดยตรง เพราะจะทำให้เกิดการกระจายตัวของเพลิงมากขึ้น และหากกระทำได้ให้เคลื่อนย้ายภาชนะบรรจุที่ยังไม่เสียหายออกจากบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ พร้อมรายงานแจ้งเหตุและปฏิบัติตามแผนตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และกรณีไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ให้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภายนอกอย่างสำนักงานบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อขอความช่วยเหลือ

สิ่งที่สำคัญ ต้องควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกไหม้ถังเก็บหรือรถขนส่ง แต่กรณีที่ไม่สามารถยับยั้งได้ เน้นย้ำว่า ให้ดับเพลิงในระยะไกลที่สุดหรือใช้สายฉีดน้ำชนิดที่ไม่ต้องใช้คนถือหรือหัวฉีดที่มีระบบควบคุม ถ้าดับไม่ได้ให้ออกไปจากพื้นที่ในระยะปลอดภัย ฉีดน้ำเพื่อหล่อเย็นถังเก็บและภาชนะบรรจุสไตรีนโมโนเมอร์ จนกว่าเพลิงจะสงบ และหากได้ยินเสียงจากอุปกรณ์นิรภัยระบายไอหรือเมื่อถังเก็บและภาชนะบรรจุเปลี่ยนสีให้ออกไปจากบริเวณนั้นทันที ห้ามยืนอยู่บนหัวหรือท้ายของถังเก็บและภาชนะบรรจุ ให้มีการวางถุงทรายหรือวัสดุปิดกั้น ป้องกันไม่ให้สารเคมีรั่วลงสู่สิ่งแวดล้อม และเมื่อระงับเหตุได้แล้ว ควรตรวจวัดไอระเหยของสไตรีนโมโนเมอร์ด้วย