ราชกิจจาฯ เผยแพร่ระเบียบฉีดลัมปี สกิน ‘โคกระบือ’ อุณหภูมิสูงเกิน 39.5 องศาเซลเซียส ตุ่มขึ้น เยื่อเมือก ให้งดรับวัคซีน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการฉีดวัคซีนโรคลัมปี สกิน ในสัตว์ชนิดโค กระบือ พ.ศ. 2564 เพื่อให้การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ ในการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease : LSD) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง ตามหลักวิชาการ ข้อกำหนดขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) และมาตรฐานสากลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 อธิบดีกรมปศุสัตว์จึงออกระเบียบไว้ มีรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนพิจารณาการฉีดวัคซีน คือ ให้ผู้ฉีดวัคซีนหรือเจ้าหน้าที่ชี้แจงให้ความรู้กับเจ้าของสัตว์ในประเด็นต่าง ๆ เช่น เหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีการฉีดวัคซีน การปฏิบัติกับสัตว์ที่ได้รับการฉีดวัควัคซีน และผลกระทบ ภายหลังได้รับวัคซีน รวมทั้งอาจมีการสูญเสียสัตว์อันเกิดจากผลข้างเคียงของการใช้วัคซีน
แล้วในการฉีดวัคซีนแต่ละครั้ง ต้องมีหนังสือให้ความยินยอมจากเจ้าของสัตว์ทุกราย มีการตรวจสุขภาพสัตว์ วัดอุณหภูมิตัวสัตว์ หากพบว่าสัตว์ตัวใดมีอุณหภูมิสูงกว่า 39.5 องศาเซลเซียส และมีอาการของโรคลัมปี สกิน ได้แก่ พบตุ่มเนื้อบนผิวหนัง เยื่อเมือก ทั่วร่างกาย หรือตกสะเก็ดกลายเป็นแผลหลุม ให้งดการฉีดวัคซีน รวมทั้งสัตว์ร่วมฝูงด้วย และให้ทำการกักสัตว์ รักษาสัตว์ป่วย และควบคุมแมลงพาหะนำโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงให้ทำการควบคุมแมลงพาหะบนตัวสัตว์ด้วยสารเคมีกำจัดแมลงแบบหยดบนหลังสัตว์ (spot - on ) หรือราดบนหลังสัตว์ (pour - on )
ส่วนการดำเนินการฉีดวัคซีน ให้ผู้ฉีดวัคซีนปฏิบัติ ดังนี้ 1. ฉีดวัคซีนให้กับสัตว์ที่อยู่ในท้องที่เกิดโรค หรือท้องที่เฝ้าระวังโรค 2. ฉีดวัคซีนในสัตว์ที่มีสุขภาพแข็งแรง 3. ให้ฉีดวัคซีนในขนาดและวิธีการใช้ตามคำแนะน าของผู้ผลิต 4. กรณีสัตว์ตั้งท้อง ให้อยู่ในดุลยพินิจของสัตวแพทย์ 5.ขวดวัคซีน เข็ม กระบอกฉีดยา และวัสดุอุปกรณ์อื่นที่ใช้ในการฉีดวัคซีนแล้ว ให้กำจัดตามกฎหมายว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ
ขณะที่หลังจากฉีดวัคซีนแล้วให้ทำสัญลักษณ์บนตัวสัตว์หรือเครื่องหมายประจำตัวสัตว์โดยการตีตราเย็น เป็นอักษรภาษาอังกฤษ “ L ” หรือ “ X ” บริเวณหัวไหล่ซ้าย หรือติดเบอร์หูพลาสติกตามที่กรมปศุสัตว์ กำหนด และให้ผู้ฉีดวัคซีนติดตามอาการข้างเคียงภายหลังจากฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาสามสัปดาห์ หากสัตว์แสดงอาการข้างเคียง ให้ดูแลรักษาตามอาการ
นอกจากนี้ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์หลังจากฉีดเป็นระยะเวลาอย่างน้อยสามสิบวัน เจ้าของสัตว์ต้องป้องกันหรือมีวิธีป้องกันแมลงดูดเลือดอย่างน้อยสามสิบวัน พร้อมทั้งมีมาตรการในการลดประชากรแมลงดูดเลือดในบริเวณพื้นที่เลี้ยงโค กระบือ และห้ามส่งสัตว์เข้าโรงฆ่าสัตว์เป็นระยะเวลาอย่างน้อยสามสัปดาห์
อ่านฉบับเต็ม http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/124/T_0001.PDF