บีทีเอส ร้องนายกฯ สอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลัง รฟม. แก้ไขหลักเกณฑ์-ล้มประมูล-คัดเลือกใหม่ ชี้ เป็นการกระทำโดยมิชอบ

บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ได้ส่งหนังสือที่ลงนามโดยนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บีทีเอส ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตรวจสอบการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสั่งการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. หยุดดำเนินการใด ๆ จนกว่าจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล

เนื่องจากมองว่า การกระทำของ รฟม. ไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น การเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชน ผู้ยื่นเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และไม่ยอมตอบข้อซักถาม และหนังสือขอความเป็นธรรมรวม 5 ฉบับที่บีทีเอสส่งให้ จึงต้องยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2563 และศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งให้ ระงับการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงเอกสารคัดเลือกเอกชนไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขวิธีประเมินข้อเสนอน่าจะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในช่วงก่อนหน้านี้

แม้คดีจะอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ แต่ รฟม.ยังคงกำหนดการยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนในวันและเวลาเดิม คือวันที่ 9 พ.ย. 2563 และกำหนดเปิดซองข้อเสนอซองที่ 1 ในวันที่ 23 พ.ย. 2563 บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จึงร่วมกับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน - ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนในนาม กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์

แต่หลังจากนั้นที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีมติให้ยกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยให้เหตุผลว่าโครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล และกระบวนการมีเวลาพิจารณานานเกินกว่าที่ รฟม. ประเมินไว้ ซึ่งหากรอการพิจารณาต่อไปอาจกระทบต่อภาพรวมการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มได้

ทำให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ มองว่าการกระทำของ รฟม. ไม่ถูกต้องทั้งข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง จึงยื่นฟ้อง ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.36 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ฐานความผิดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

แม้จะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นและอยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษา แต่เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 รฟม. ได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนใหม่ โดยใช้หลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่ให้นำมาบังคับใช้ในการคัดเลือก การกระทำของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก จึงถือว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน อีกทั้งไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้อง อาจทำให้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ประเทศชาติจะได้รับความเสื่อมเสียและขาดความน่าเชื่อถือ จึงต้องขอความเป็นธรรมจากนายกรัฐมนตรี