"อนุทิน" ชี้ ผู้ชุมนุมควรร่วมพูดคุยหาทางออกประเทศ หนุนเชิญอดีตนายกฯ-อดีตประธานสภาฯร่วมวง

(6 พ.ย. 2563) นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า สนับสนุนการตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ เนื่องจากสนับสนุนทุกแนวทางที่จะทำให้ความขัดแย้งหมดไป ส่วนที่มีรายชื่อออกมาว่า เทียบเชิญอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภามาร่วม ก็ถือว่าเป็นคนที่มีประสบการณ์มีวุฒิภาวะ และมีความหวังดีต่อบ้านเมือง และเป็นผู้ใหญ่ที่มากบารมี จึงสนับสนุนให้กลุ่มคนเหล่านี้ มาผลักดันให้บ้านเมืองเดินหน้า

สำหรับคนที่จะมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการก็ให้เป็นเรื่องของการเลือกกันเองภายใน อย่างไรก็ตามส่วนตัวคาดหวังให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าร่วมหาทางออกครั้งนี้ หากต้องการให้บ้านเมืองสงบและสามัคคี เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการเสนอให้พูดคุยกัน ดังนั้น ทุกฝ่ายก็ควรจะเข้าร่วม ขณะเดียวยืนยันว่า รัฐบาลและรัฐสภาได้ฟังเสียงของทุกฝ่ายแล้ว ในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ ทั้งมีการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้อง

นายอนุทิน ยังกล่าวถึงข้อเสนอของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานก่อตั้งสถาบันสร้างไทยในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่เสนอให้ออก พ.ร.ก.แต่งตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ว่า ก็เป็นเรื่องที่เสนอได้ แต่ก็ต้องเลือกแนวทางที่ดีที่สุดโดยให้ผู้ปฏิบัติตัดสินใจ

สำหรับการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ นายอนุทิน ย้ำว่า พรรคภูมิใจไทยสนับสนุนร่างของรัฐบาลคือเดินหน้าแก้ไขมาตรา 256 และตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยไม่แตะหมวด 1 หมวด 2

ส่วนที่มีกระแสข่าว ว่า รัฐสภาจะไม่รับร่างของฝ่ายค้านและร่างของ ilaw นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องยึดเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุม ว่าจะรับหลักการหรือไม่ และส่วนตัวไม่กังวลว่าหากร่างรัฐบาลได้รับความเห็นชอบเพียงร่างเดียวจะเกิดปัญหา รอบสุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติของประชาชนอยู่แล้ว จะทำให้ถูกใจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำให้ถูกต้องด้วย

นายอนุทิน ยังกล่าวย้ำด้วยว่า ไม่อนุญาตให้ใช้โลโก้พรรคภูมิใจในการหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ. และสมาชิกสภาท้องถิ่น  เนื่องจากกังวลกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น มาตรา 34 ที่กำหนดห้ามข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ส.ส.และ ส.ว. ไปช่วยหาเสียง แม้พรรคจะไม่ชอบแต่ก็ต้องยึดหลักของกฎหมายเนื่องจาก กกต.ประกาศออกมาแล้ว แต่มั่นใจว่าผู้สมัครท้องถิ่นแต่ละคนจะมีความสามารถจึงส่งไปได้เพียงแค่กำลังใจ และเห็นว่าการให้ผู้สมัครลงในน้ำอิสระน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่าเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกโดยไม่ต้องอิงพรรคการเมือง

อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการเสนอให้ กกต. แก้ไขกฎหมายเพื่อให้พรรคการเมืองสามารถเข้ามาช่วยหาเสียง เลือกตั้ง อบจ. แต่พรรคภูมิใจไทยไม่ได้กังวลไปนี้ เพราะผู้สมัครที่มีความสัมพันธ์อันดีกับพระจะมีความเข้มแข็งในตัวเอง