สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหล่อม พระราชทานอภัยโทษ ผู้ต้องขังในเรือนจำ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
โดยมีเนื้อหาว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริเห็น ว่าในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป
สำหรับผู้ต้องโทษที่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปมีหลายประเภท อาทิ
- ผู้ต้องโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือ แทนเสียค่าปรับ
- นักโทษที่เป็นคนพิการ ตาบอดทั้งสองข้าง มือหรือเท้าด้วนทั้งสองข้าง
- นักโทษที่คนเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) หรือโรคจิต ซึ่งทางราชการได้รักษามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน รวมถึงผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วย
- นักโทษที่มีอายุกว่า 60 ปี เหลือโทษอยู่ไม่เกิน 3 ปี หรือเป็นคนมีอายุตั้งแต่ 70 ปี ขึ้นไป
ส่วนนักโทษเด็ดขาดซึ่ง ไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว แต่ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ อาทิ
ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุก 50 ปี แล้วให้ลดโทษ ตามลำดับชั้น เช่นนักโทษชั้นเยี่ยมลด 1 ใน 2 ชั้นดีมาก ลดโทษ 1 ใน 3 ชั้นดี ลดโทษ 1 ใน 4 ชั้นกลาง 1 ใน 5
ส่วนนักโทษเด็ดขาด มีความผิดเกี่ยวกับก่อการร้าย เพศ ทุจริตคอรัปชั่น ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ จาก
- โทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นจำคุก 50 ปี แล้วให้ลดโทษตามกฎหมาย
ส่วนนักโทษคดียาเสพติดที่ต้องโทษตั้งแต่ 8 ปี ถึงตลอดชีวิต ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ดังต่อไปนี้
ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นจำคุก 50 ปี แล้วให้ลดโทษ ชั้นเยี่ยม ลด 1 ใน 6 ชั้นดีมาก ลด 1 ใน 7 ชั้นดี ลด 1 ใน 8 ชั้นกลาง ลด 1 ใน 9
ส่วนนักโทษเด็ดขาดซึ่งครั้งนี้ ไม่ได้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว แต่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้น จะได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลงเป็นพิเศษอีก 1 ใน 5
อย่างไรก็ตามยังมีนักโทษเด็ดขาดที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับ พระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ ประกอบด้วย
- นักโทษเด็ดขาด ที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษประหารชีวิตที่เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว
- ผู้ต้องโทษคดียาเสพติด ตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกิน 8 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ภายหลังวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ
- ผู้กระทำความผิดซ้ำ และไม่ใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม
- นักโทษเด็ดขาดชั้นเลวหรือชั้นเลวมาก
- นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษในความผิดเกี่ยวกับคดีข่มขืน
ส่วนนักโทษเด็ดขาดซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิต ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ เป็น จำคุกตลอดชีวิต
พันตำรวจเอก ณรัชค์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า หลังจากมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เรือนจำทั่วประเทศ ทั้ง 143 แห่งทั่วประเทศ ได้นำไปประกาศให้ผู้ต้องขังได้รับทราบ
ซึ่งกรมฯ จะเร่งประเมินคุณสมบัติและเงื่อนไขต่างๆ เพื่อแยกให้ชัดว่านักโทษที่จะได้รับการปล่อยตัวมีจำนวนเท่าไหร่ และได้ลดโทษตามชั้นต่างๆ เป็นจำนวนเท่าใด โดยขั้นตอนการตรวจสอบจะมีกรรมการ 3 ฝ่ายประกอบด้วยผู้พิพากษา อัยการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบรายชื่ออย่างรัดกุมว่า มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่ได้รับการอภัยโทษหรือไม่ โดยจะต้องพิจารณาให้แล้วภายใน 4 เดือนหรือ 120 วัน เมื่อตรวจสอบแล้วเสร็จจึงจะส่งรายชื่อให้ศาลออกหมายปลอย และต้องทยอยปล่อยเป็นรุ่นๆ
หนึ่งในผู้ที่เข้าเกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ก็คือ นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งตอนนี้ถูกคุมขังอยูภายในทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น ในคดีมาตรา 112
นางพริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของไผ่ ดาวดิน รู้สึกปลาบปลื้มใจอย่างมากที่ ไผ่ได้รับพระราชทานอภัยจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทางครอบครัวได้ทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษให้กับไผ่ ไปเมื่อเดือน ก.ย. 2560 หากนับวันที่จะพ้นโทษจริงๆคือวันที่ 19 มิถุนายน ที่จะถึงนี้
หลังจากบุตรชาย ได้รับการปล่อยตัว ครอบครัวจะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ เพื่อเป็นสิริมงคล ส่วนจะจัดที่ขอนแก่น หรือที่บ้านที่ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิหรือไม่นั้น ครอบครัวขอหารือกัน อีกครั้ง
มีรายงานว่า สำหรับผู้ต้องขังที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษในครั้งนี้ มีประมาณ 4-5 หมื่นคน รวมถึงกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ต้องโทษในคดีบุกทำเนียบรัฐบาล ปี 2551 ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 83 ปี, นายพิภพ ธงไชย อายุ 72 ปี, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 68 ปี, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 72 ปี และนายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 45 ปี เป็นเวลา 8 เดือน ตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา
ยกเว้นนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งแม้จะมีอายุเกิน 70 ปี แต่เนื่องจากต้องโทษหลายคดี และมีคดีที่เข้าเงื่อนไขบัญชีแนบท้ายคดีเกี่ยวกับความผิดตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่อยู่ในข่ายได้รับการปล่อยตัว
ส่วนคดีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไม่อยู่ในข่ายได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากต้องโทษจำคุก และยังติดเงื่อนไขต้องโทษในคดีทุจริตปฏิบัติหน้าที่มิชอบ
ขณะที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อายุยังไม่ถึง 60 ปี และต้องโทษหลายคดี ซึ่งอาจได้ลดวันต้องโทษ