สภาวิศวกร ลงพื้นที่ ตรวจสอบอาคารถล่ม ย่านรามคำแหง แล้ว โดยขอเวลา 3 เดือน สอบข้อเท็จจริง ว่าสาเหตุ เกิดผิดพลาดจุดใด เบื้องต้น พบว่า อาคารนี้ เคยถูกสั่งยุติรื้อถอน และให้ปรับปรุง หลังพบว่า ทำเศษอิฐปูน หล่นบนทางเท้า
ศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และ ผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบหาสาเหตุ อาคาร 4 ชั้น ที่กำลังรื้อถอนถล่ม บริเวณปากซอยรามคำแหง 51/2 ถนนรามคำแหงขาออก เขตบางกะปิ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา
จากการตรวจสอบ ทราบว่า พื้นที่เกิดเหตุ เป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งได้ทำการเวนคืนพื้นที่ เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา เพื่อใช้ก่อสร้างสถานีรามคำแหง โดยว่าจ้างผู้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา จนถึงวันเกิดเหตุ เพื่อจะมอบพื้นที่ให้กับบริษัทรับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มต่อไป
ที่เกิดเหตุ มีการขออนุญาต รื้อถอน มีวิศวกรดูแลควบคุมงาน แต่ตัวอาคารเก่า สันนิษฐานสาเหตุอาคารถล่มไว้ 2 ประการ คือ 1.ขั้นตอนการรื้อถอนไม่ถูกต้อง และ 2.ขั้นตอนถูกต้องตามหลักการ แต่เป็นเหตุสุดวิสัย ที่อาจจะเกิดจากจุดอ่อนในตัวโครงสร้างอาคารที่มองไม่เห็น อาคารดังกล่าว เป็นอาคารเก่ามีอายุ 40-50 ปี ระบบการก่อสร้าง กำลังคอนกรีต และ ชนิดของคอนกรีตอาจจะไม่เหมือนกับสภาพในปัจจุบัน จึงทำให้มีปัญหาได้
ในส่วนของขั้นตอนการรื้อถอน ถือว่า มีความสำคัญพอๆ กับการก่อสร้าง เพราะต้องดูโครงสร้าง และต้องวางแผนการดำเนินการให้รอบคอบ
วันเกิดเหตุ ทราบว่า ผู้รับจ้างรื้อถอน จาก รฟม. ได้นำรถแบคโฮ มารื้อถอนส่วนที่เหลือ จากการรื้อถอนในเดือนธันวาคม ขณะรื้อด้านในตัวระเบียง แผ่นปูนที่เป็นกำแพงผนังของชั้น 2 รับแรงกระแทกไม่ไหว จึงหลุดลงมากระแทกกับกันสาดด้านล่าง เป็นเหตุให้เกิดการถล่มลงมา ใส่คนเดินถนน ได้รับบาดเจ็บ 2 คน
จากนี้ สภาวิศวกรจะตรวจสอบขั้นตอนการรื้อถอนว่า ผู้รับเหมารื้อถอนส่วนไหนก่อน ถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่ และในส่วนของการควบคุมงาน จะต้องมีการตรวจสอบว่า วิศวกรที่คอยดูแลนั้น ได้รับใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ และจะเรียกวิศวกรคนดังกล่าวมาสอบ
หากพบว่า มีความผิด จะมีโทษสูงสุด คือ เพิกถอนใบอนุญาต โดยขั้นตอนดังกล่าว คาดว่า จะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน
ขณะที่ นายนพดล ฉายปัญญา ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคารสำนักการโยธาธิการ กรุงเทพมหานคร บอกว่า ทางเขตบางกะปิ เคยมีคำสั่ง ระงับการรื้อถอนอาคารนี้ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากสถานที่ดังกล่าว เป็นสถานที่สาธารณะ มีประชาชนสัญจรไปมาจำนวนมาก ประกอบกับมีผู้ร้องเรียนว่า มีเศษจากการรื้อถอน ตกลงมา เมื่อมาตรวจสอบ พบว่า แผงกั้นที่ป้องกันวัสดุตกหล่น ไม่เป็นไปตามแผน ที่ยื่นกับสำนักงานเขตไว้ จึงให้ไปปรับปรุงและแก้ไขให้ถูกต้อง แต่เรื่องกลับเงียบไป กระทั่งเกิดเหตุขึ้น
สำหรับอาคารของธนาคาร ที่อยู่ติดกับอาคารที่เกิดเหตุ เบื้องต้น สำนักงานเขตบางกะปิ มีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขบริเวณขั้นที่เสียหายก่อน ระหว่างนี้ ให้หยุดใช้ตัวอาคารดังกล่าวจนกว่าจะมีการแก้ไข
ด้าน พันตำรวจเอก ศักดิ์สิทธิ์ มีสวัสดิ์ ผู้กำกับการ สน.หัวหมาก บอกว่า ได้สอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว 3-4 ปาก คือ ผู้ที่อยู่ในที่เกิดเหตุ และ เจ้าของอาคาร หรือ สำนักงานที่ดูแลอาคารดังกล่าว สำหรับการแจ้งข้อกล่าวหานั้น จะต้องให้สำนักงานโยธาเป็นผู้ร้อง ว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาใด และ ใครบ้าง