ชาวบ้านในอำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน ผุดไอเดียนำกล่องนมที่เด็กนักเรียนดื่มหมดแล้วมารีไซเคิล โดยการประดิษฐ์เป็นเสื่อรองนั่ง ตะกร้าใส่ของ และกันสาดช่วยบังแดด เพื่อเป็นการช่วยลดปัญหาขยะในชุมชน และนำออกขายมีรายได้เข้าพัฒนาชุมชนอีกด้วย

นางละมัย เวทำ ที่ปรึกษาอาสาสมัครสาธารณสุข ประจำหมู่บ้านเจดีย์ 2 ตำบลเชียงกลาง อำเภอเชียง กลาง จังหวัดน่าน เปิดเผยว่าในพื้นที่บ้านเจดีย์ 2 มีลูกบ้านอยู่ถึง 160 ครัวเรือน ถึงแม้จะเป็นชุมชนไม่ใหญ่ แต่ก็ประสบปัญหาขยะ ที่นับวันเพิ่มปริมาณมากขึ้น และมีการทิ้งขยะเรี่ยราด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะทางการเกษตร และขยะจากครัวเรือน ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ก็กลายเป็นแหล่งกำเนิดเชื้อโรค และส่งผลเสียต่อชุมชน จึงริเริ่มโครงการคัดแยกขยะและขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อพัฒนาให้ชุมชนน่าอยู่ จากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เพื่อนำมาจัดตั้งคณะกรรมการขยะ

อย่างไรก็ดี ยังมีขยะบางประเภทที่ไม่สามารถขายได้ อย่างกล่องนม กล่องเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นขยะที่มีปริมาณมาก เนื่องจากเด็กๆ ในหมู่บ้าน นิยมดื่มนมวันละ 2 กล่อง ทำให้มีขยะจากกล่องนม ถึงเดือนละ 60 กล่อง หรือปีละ 720 กล่อง ต่อเด็ก 1 คน

อีกทั้งกล่องนมนั้น มีส่วนประกอบของชั้นต่างๆ อยู่หลายชั้น โดยมีชั้นของกระดาษอะลูมิเนียมฟอยล์และพลาสติก ซึ่งเป็นสารที่ย่อยสลายได้ยาก และหากทำลายด้วยการนำไปเผา ก็จะก่อให้เกิดมลพิษ ดังนั้นการรีไซเคิลจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการลดขยะ และลดมลพิษได้ ซึ่งก็เป็นที่มาของการนำกล่องนำมาศึกษาคุณสมบัติ จนพบว่ามีความคงทนแข็งแรง สามารถกันน้ำและกันปลวกได้ดี

ทางชาวบ้านจึงคิดนำกล่องนำมาประดิษฐ์เป็นเสื่อรองนั่ง ตะกร้าใส่ของรูปแบบสวยงาม และกันสาดบังแดดบังฝน โดยเริ่มแรกทำกันไว้ใช้ในหมู่บ้าน แต่ปรากฏว่ามีคนสนใจสั่งทำสั่งซื้อ จึงทำให้นอกจากจะช่วยลดปัญหาขยะแล้วยังมีรายได้เข้ามาพัฒนาชุมชนอีกด้วย