กลุ่มชาวบ้านเรารักษ์ เกาะยาว ร่วมกับนักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดล นำร่องสร้าง "โพรงรังเทียม" ให้นกเงือกอาศัย หลังพบว่า นกเงือกบนเกาะยาวเริ่มลดลง

หลังจากเพจเฟซบุ๊ก "เรารักษ์ เกาะยาว" ได้แชร์ข้อความและภาพของการติดตั้งโพรงเทียมสำหรับนกเงือก บนเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ให้กับนกเงือกที่อาศัยอยู่บนพื้นที่เกาะยาว

หลังจากกลุ่มชาวบ้านเกาะยาว และ นักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันสร้างโพรงรังเทียมเป็นกล่องไม้ นำไปติดตั้งบนต้นไม้ตามจุดต่างๆ ในพื้นที่เกาะยาว โดยพบว่า นกเงือกตัวเมีย จะเข้าไปอาศัย และจะเห็นนกเงือกตัวผู้ เอาอาหารมาป้อนให้กับตัวเมีย

กลุ่มเรารัก เกาะยาว ระบุว่า ปัจจุบัน พบว่า ในพื้นที่เกาะยาว เริ่มเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เจริญ และมีการก่อสร้างโรงแรม จนทำให้ต้นไม้ ที่เป็นโพรงแหล่งอาศัยของนกเงือก เริ่มหายไป จึงจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันช่วยกันอนุรักษ์นกเงือกในพื้นที่เกาะยาว ให้อยู่คู่เกาะยาวตลอดไป

สำหรับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันรักนกเงือก" ซึ่งนกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่ ส่วนมากมักจะมีขนสีดำสลับขาว ทั่วโลกมี 55 ชนิด มีการแพร่กระจายอยู่ในแถบเขตร้อน ของทวีปอัฟริกา และเอเชีย นกเงือกเป็นนกผัวเดียวเมียเดียว

ปัจจุบัน นกเงือกในประเทศไทย มีทั้งหมด 13 สายพันธุ์ จากทั้งหมด 50 กว่าสายพันธุ์ ที่มีอยู่ทั่วโลก ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก โดยเฉพาะผืนป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติบูโด - สุไหงปาดี ซึ่งรวมแล้วมีนกเงือกประมาณ 3,000 – 5,000 ตัว

กลุ่มเรารักษ์เกาะยาว สร้างบ้านนกเงือก