ลูกจ้างกรีดยางพาราของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง 22 ครอบครัว เดือดร้อนอย่างหนัก หลังขาดรายได้จากการหยุดกรีดยาง มานานกว่า 1 เดือน
ลูกจ้างกรีดยางพาราของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในพื้นที่ หมู่ 1 ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง จำนวน 22 ครอบครัว ต่างได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก
เพราะไม่มีเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว และ ลูกหลานต้องเรียนหนังสือ ส่วนหนึ่ง ต้องออกไปหางานรับจ้างทั่วไปรายวัน มีงานบ้าง ไม่มีงานบ้าง หรือ บางคนออกไปหาแปลงยางพื้นที่อื่นกรีด แต่มีรายได้แค่วันละกว่า 100 บาท จึงไม่เพียงพอ เพราะราคายางยังตกต่ำ ทำให้เดือดร้อนหนัก
ส่วนใหญ่ต้องใช้เงินสวัสดิการแห่งรัฐเดือนละ 200 – 300 บาท แต่ยังไม่เพียงพอ โดยผลกระทบทั้งหมดนี้เกิดขึ้น หลังจากต้องหยุดกรีดยางพาราในทันที ตามที่รัฐบาลมีนโยบายควบคุมปริมาณผลผลิตยาง เพื่อลดปริมาณผลผลิต โดยดำเนินการให้หยุดกรีดในพื้นที่ของรัฐ 120,000 ไร่ เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2561
ทั้งนี้ ลูกจ้างกรีดยางของ กยท. ดังกล่าว ได้หยุดกรีดยาง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา โดยที่ กยท. ยังไม่ได้ชดเชยช่วยเหลือ
นายสมพล ชัยปัญญา อายุ 52 ปี และ นาง นภศร เรืองศรี อายุ 41 ปี ตัวแทนลูกจ้างกรีดยางพารา ของ กยท. กล่าวว่า เดิมทีได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า รัฐบาลจะชดเชยรายได้ ที่จะต้องหยุดกรีดยางทั้ง 3 เดือน เดือนละ 4,600 บาท
แต่ผ่านมากว่า 1 เดือนแล้ว ลูกจ้างทุกรายยังไม่ได้รับเงินชดเชย ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จึงออกหางานรับจ้างทั่วไปทำ แต่ก็มีงานบ้าง และไม่มีงานบ้าง
หรือ ไปขอกรีดยางในแปลงอื่น ต้องกรีดนับ 1,000 ต้น ได้น้ำยางแค่กว่า 30 กิโลกรัม ราคาก็ตกต่ำ เหลือเพียง กิโลกรัมละ 38 – 39 บาท เมื่อแบ่งกับนายจ้างแล้วได้วันละ ประมาณ 100 บาท ทำให้ไม่พอรายจ่ายในครอบครัว
ทุกวันนี้ต้องซื้อข้าวสารประทังชีวิต ด้วยเงินสวัสดิการแห่งรัฐเดือนละ 200 – 300 บาท จึงขอให้ ทางการยางแห่งประเทศไทย เร่งช่วยเหลือ
ส่วนกรณีที่รัฐบาล บอกว่า ถ้าหยุดกรีดทั้งประเทศ 120,000 ไร่ จะทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นนั้น ซึ่งขณะนั้น ราคายางกิโลกรัมละ 40 บาท แต่เมื่อหยุดกรีดยางมานานกว่า 1 เดือน กลับพบว่า ราคายางพารา เหลือเพียงกิโลกรัมละ 38 – 39 บาท เท่านั้น จึงยังไม่รู้ว่า จะได้กลับมากรีดยางได้อีกเมื่อใด เพราะเจ้าหน้าที่แจ้งว่า ถ้าราคายางยังไม่ดีขึ้นอาจจะต้องหยุดกรีดนานกว่า 3 เดือน