ชาวบ้าน ในพื้น จ.ฉะเชิงเทรา ร้องหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งซ่อมแซมถนนเลียบคลองส่งน้ำ โครงการชลประทานหลังพังชำรุดนาน
ชาวบ้าน ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เดินทางมารวมตัวที่
ถนนเลียบคลองส่งน้ำโครงการชลประทาน เรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งซ่อมแซมถนนที่พังชำรุด เป็นหลุมเป็นบ่อ สัญจรยากลำบาก
โดย นายเฉลิมเกียรติ นพเกตุ นายก อบต.หัวสำโรง ระบุว่า ถนนเส้นนี้ เชื่อมโยงระหว่าง ตำบลเกาะขนุน ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม และ ตำบลหัวสำโรง ตำบลแปลงยาว อำเภอแปลงยาว ยาวไปถึงตำบลแหลมประดู่ อำเภอบ้านโพธิ์ ระยะทางรวมเกือบ 20 กิโลเมตร ขาดการซ่อมบำรุงมานาน / ป้ายบอกทางตามโค้งตามจุดแยกหรือริมทาง ก็เสื่อมสภาพ ไฟส่องสว่างตามถนนก็ไม่มี ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า
ที่ผ่านมา ทำได้เพียงขออนุญาตกรมชลประทาน ซ่อมแซมตรงจุดที่ชำรุดเสียหาย / แต่ก็ซ่อมแซมไม่ได้มากเพราะไม่มีงบประมาณ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปรับปรุงซ่อมแซมถนน ให้ได้มาตรฐาน เพราะถนนเส้นนี้ยังเป็นเส้นที่เดินทางจากจ.ชลบุรี ผ่านไปยังจังหวัดทางภาคอีสานด้วย
ส่วนชาวบ้านในพื้นที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน ว่า เดือดร้อนมาก ไม่ว่าจะ รถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์ เพราะถนนเป็นหลุมเป็นบ่อตลอดทั้งเส้น ในช่วงหน้าแล้ง ฝุ่นฟุ้งกระจาย
ขณะที่ ช่วงหน้าฝนถนนเป็นดินโคลน เกิดอุบัติเหตุบ่อครั้ง ทั้งนักเรียน พนักงานโรงงาน และ ชาวบ้านที่ขนพืชผัก จะไปไหนมาไหนลำบากมากต้องขับรถหลีกเลี่ยงถนนที่ชำรุด
ภายหลังชาวบ้านออกมาเรียกร้อง นายกิตติพันธ์ โรจนชีวะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหา ที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแหน อ.พนมสารคาม ทันที โดยเรียก ทั้งเจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงชนบทจังหวัดฉะเชิงเทรา หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมชลประทานจังหวัดฉะเชิงเทรา และ นายก อบต. รวททั้ง กำนัน และ ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนมาร่วมรับฟัง
นายจิระโชติ ปัญญาประดิษฐ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทฉะเชิงเทรา ชี้แจงว่า ที่ผ่านมารับการถ่ายโอนพื้นที่ถนนเลียบคลองของกรมชลประทานมาแล้วหลายเส้นทาง แต่ทางกรมชลประทาน ให้เพียงผิวจราจรเท่านั้น เวลาที่ทำการขยายทาง ปรับปรุง หรือซ่อมแซม จะต้องทำเรื่องขออนุญาตซ่อมแซมทุก ทำให้เกิดปัญหาความล่าช้า ส่วนถนนเส้นนี้หากจะถ่ายโอนให้จะต้องถ่ายโอนทั้งโครงเพื่อปรุงปรุงเสาไฟฟ้า ป้ายบอกทาง และโครงสร้างถนนด้วย
ขณะที่ นายวีระวัฒน์ ผสมทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมชลประทานจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า สำนักงาน ชลประทานได้เขียนโครงการของบประมาณ 17 ล้านบาทเพื่อนำปรับปรุงซ่อมแซมถนนระยะทาง 10 กิโลเมตร แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ และ ที่ผ่านมาไม่เคยได้รับงบซ่อมแต่อย่างใด สำหรับเงื่อนไขการถ่ายโอนพื้นที่ให้แขวงทางหลวงชนบท จะได้นำข้อมูลรายงานผู้บริหารระดับกรมเพื่อพิจารณาอีกครั้ง หลังจากนั้นคณะก็ลงพื้นที่ตรวจพื้นถนนทีชำรุด
ด้าน นายกิตติพันธ์ โรจนชีวะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิง
เทรา กล่าวว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้จะช่วยเร่งติดตามงบประมาณซึ่งเป็นงบกลาง มาดำเนินการอย่างเร่งด่วน ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจะให้ท่องถิ่น คือ อบต.ที่เกี่ยวข้องทำหนังสือถึงชลประทาน ขอใช้พื้นที่ในการซ่อมแซม ปรับปรุงบริเวณที่ชำรุดเสียหาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
อย่างไรก็ตาม นายกิตติพันธ์ ระบุอีกว่า นอกจากนี้ ยังจะเสนอแผนโครงการไปยัง องค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา ลงมาสำรวจและอาจจะใช้งบประมาณของ อบจ.ฉะเชิงเทรา มาดำเนินการด้วย เพราะเป็นพื้นที่ๆเชื่อมต่อกัน