ชายวัย 65 ปี ผลิตระหัดผัดหม่อนไหมโบราณ หรือเครื่องปั่นด้ายกรอไหมโบราณ เพื่อสร้างรายได้หลังฤดูการทำนา และเพื่อความสะดวกรวดเร็ว สร้างคุณภาพ ในการผลิตผ้าไหมสุรินทร์แบบโบราณ
นายทอง แข่งขัน อายุ 65 ปี ชาวบ้านหมู่ 6 บ้านโนนระเวียง ตำบลทุ่งกุลา อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ทำระหัดผัดหม่อนไหม (ภาษาเขมรพื้นถิ่นสุรินทร์) หรือเครื่องปั่นด้ายกรอไหมโบราณ สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว หลังเสร็จจากการทำนา / ซื้อปลา / ขายปลา ซึ่งจะมีกลุ่มทอผ้าไหมในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และ พื้นที่ใกล้เคียง สั่งทำ 2-3 อันต่อเดือน
นายทอง บอกว่า ตนเองอยากจะอนุรักษ์ระหัดผัดหม่อนไหม แม้ว่า รายได้จากการทำระหัดผัดหม่อนไหม หรือเครื่องปั่นด้ายกรอไหมโบราณ จะไม่มากนัก ซึ่งกำไรต่อชิ้นประมาณ 1,500 บาท เดือนหนึ่งจะทำได้ประมาณ 3 อัน
แต่ถือว่า กระบวนการผลิตไม่สลับซับซ้อนมากนัก และเป็นเครื่องมือตามภูมิปัญญาชาวบ้านโบราณ ซึ่งตนเองก็ตั้งใจทำขึ้นมา เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และสร้างคุณภาพ ในกระบวนการผลิตผ้าไหมสุรินทร์แบบโบราณ ซึ่งนับวันยิ่งจะสูญหายไปจากสังคมไทย
สำหรับเครื่องปั่นด้ายกรอไหม บางพื้นที่เรียกว่า ไน / หลา / กงปั่นด้าย / หลาปั่นด้าย / เครื่องกรอไหม ขณะที่บางท้องถิ่นทางภาคเหนือเรียก กวง หรือ เผี่ยน หรือ เพียน เป็นเครื่องมือที่อาศัยหลักเกณฑ์ในเรื่องของล้อ และเพลา ซึ่งเครื่องมือนี้ จะใช้ปั่นฝ้ายให้เป็นเกลียวแน่น จนเป็นเส้นด้าย หรือใช้กรอเส้นด้ายเข้าไส้หลอด สำหรับเป็นเส้นพุ่ง หรือด้ายพุ่ง
Cr.ธนินทัศน์ // สุรินทร์