ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เผยผลสำรวจทัศนะสถานภาพแรงงานไทย ขอค่าแรงปรับเป็น 410 บาทต่อวันใน 3ปี ข้างหน้า ชี้แรงงานกว่า 97 เปอร์เซ็นต์แบกหนี้พุ่งสูงสุดรอบ 8ปี

วันที่ 27 เม.ย.60 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจทัศนะสถานภาพแรงงานไทยกรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท พบว่า ความคิดเห็นต่อการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในอนาคตของแรงงานไทย พบว่า 86.7% เห็นควรให้มีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น และ 55.8% เห็นว่าควรปรับขึ้นทุกปี โดยในช่วง 3 ปีข้างหน้า แรงงานส่วนใหญ่เห็นว่าควรให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 410 บาทต่อวัน แต่ก็ห่วงว่าหากมีการปรับขึ้นค่าแรงและส่งผลทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น โดยแรงงานยังต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องของค่าน้ำค่าไฟ การได้รับเบี้ยยังชีพเพิ่มขึ้น และการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย

นอกจากนั้นผลสำรวจยังพบว่า แรงงานกว่า 97 % ยังมีภาวะหนี้ โดย 53.6% เป็นหนี้นอกระบบ และเป็นหนี้ในระบบ 46.4% ซึ่ง 78.6% เคยผิดนัดชำระหนี้ เพราะรายได้ไม่เพียงพอ โดยมีตัวเลขก่อหนี้เฉลี่ยครัวเรือนละ 131,479 บาท เพิ่มขึ้น 10.43% จากปีก่อนหน้าที่ 119,061 บาท นับว่าสูงสุดในรอบ 8 ปี

และสำหรับในช่วงวันแรงงาน กิจกรรมที่ทำคือการซื้อของ, ทำบุญ, สังสรรค์ และทานอาหารนอกบ้านตามลำดับ โดยมีรายจ่ายเฉลี่ย 1,335 บาท อย่างไรก็ตามทัศนะของแรงงานที่มีต่อเศรษฐกิจในปัจจุบัน 35% เห็นว่าเศรษฐกิจยังทรงตัว และ 28.3% เห็นว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น ในขณะที่มีแรงงาน 19.2% เห็นว่าเศรษฐกิจจะแย่ลงมาก