เมื่อวานที่ผ่านมา (18 เม.ย.) หลายจังหวัดยังมีการจัดงานเทศกรานต์สงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน ซึ่งที่จังหวัดเชียงราย ชาวพญาเม็งราย ร่วมพิธีไหว้สาพญามังราย เพื่อขอพรในช่วงปีใหม่ไทย

นายภูเบศร์ จูละยานนท์ นายอำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย นำชาวอำเภอพญาเม็งราย ประกอบพิธีไหว้สาพญามังราย ณ คุ้มพญาเม็งราย ตำบลเม็งราย อำเภอเม็งราย โดยมีขบวนแห่ข้าวตอกดอกไม้ บายศรี พานพุ่มดอกไม้ ไหว้องค์พ่อขุนฯ เพื่อขอพร ซึ่งจะจัดขึ้นทุกปี หลังเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งมีการ ถวายหมากพลู เครื่องสักการะ การรำถวายต่อหน้าคุ้มพญาเม็งราย

ตามตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า พ่อขุนเม็งรายมหาราช หรือที่ชาวล้านนาเรียกว่า พญามังราย เคยนำกองทัพไปตีข้าศึก แล้วพระองค์ทรงหยุดพัก เพื่อหาเสบียงอาหารให้แก่กองทัพของพระองค์จำนวนหมื่นๆ คน และสอดแนมหาข่าวของกำลังข้าศึกเมืองเชียงของก่อนที่จะเข้าตีเมือง

โดยหยุดพักแถวบริเวณป่าละเมาะ และมีการบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า บริเวณนี้ คือ ซุ้มตั้งไก่พญาเม็งราย หรือคุ้มพญาเม็งราย ในปัจจุบัน และเป็นผู้สร้างบ้านแปงเมืองเชียงราย เมื่อในอดีต

ส่วนที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ชาวบ้านหลายหมู่บ้าน ในอำเภอวังโป่ง ร่วมกันจัดงานประเพณีแห่ต้นดอกไม้ประเพณีเก่าแก่ ที่สืบทอดกันมาเป็นประจำทุกปี หลังเทศกาลสงกรานต์ โดยนำไม้ไผ่มาขึ้นเป็นโครงประดับประดาตกแต่งด้วยดอกไม้สดหลากหลายชนิด ให้มีสีสันสวยงาม เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาตามความเชื่อของคนโบราณ ก่อนแห่ไปประกวดความสวยงามที่วัดเนินศิลาเพชร ตำบลวังหิน อำเภอวังโป่ง

และเมื่อตะวันลับขอบฟ้า ประชาชน และนักท่องเที่ยว ก็จะเริ่มหลั่งไหลเข้าร่วมชมความงดงามของต้นดอกไม้ ที่มีการตกแต่งประดับแสงไฟแสงเทียน สะท้อนออกมาอย่างสวยสดงดงาม สร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็น

สำหรับงานประเพณีแห่ต้นดอกไม้ ถือเป็นงานแห่ต้นดอกไม้ที่สวยงาม เป็นเอกลักษณ์แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน ที่มีความศรัทธาต่อการทำต้นดอกไม้ ถวายเป็นพุทธบูชา ที่สืบทอดมานานหลายปีตามความเชื่อโบราณ

และที่จังหวัดอุทัยธานี เทศบาลตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ ได้จัดงานวันไหลสงกรานต์ถนนข้าวไร่ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการจัดงานสงกรานต์ของจังหวัดอุทัยธานี โดยมีประชาชนและกลุ่มวัยรุ่น พากันออกมาเล่นน้ำคลายร้อนกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่นำรถเข้าไปเล่นในถนน จึงไม่มีปัญหาเรื่องรถติด หรือรถเปิดเพลงเสียงดังรบกวนประชาชน ที่เข้ามาเล่นน้ำสงกรานต์ให้เสียบรรยากาศการเล่นน้ำ

ขณะที่เทศบาลตำบลบ้านไร่ ได้นำรถน้ำมาฉีดน้ำ สร้างความสนุกสนานเป็นอย่างมาก โดยมีกลุ่มองค์กรภาคีเครือข่ายงดเหล้า ร่วมเดินรณรงค์สงกรานต์ปลอดเหล้า ลดความเสี่ยงอุบัติเหตุ และการก่อเหตุทะเลาะวิวาท ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย

ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี บริเวณคอเขาบางพระ หมู่ 4 ตำบลบางพระ ผู้นำชุมชนและชาวชุมชนต่างๆ ได้ร่วมกันจัดขบวนแห่องค์พญายม จากบริเวณคอเขาบางพระ ไปบนถนนสุขุมวิท แล้วเลี้ยวเข้ารอบตลาดบางพระ ลงไปที่ชายทะเลบางพระ

ซึ่งในขบวนแห่องค์พญายมในครั้งนี้ มี 29 ขบวน ยาวกว่า 2.5 กิโลเมตร และมีประชาชนในพื้นที่ และ พื้นที่ใกล้เคียง มาร่วมเล่นสาดน้ำสงกรานต์ และร่วมแห่องค์พญายมอย่างคึกคัก

ในอดีตมีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอหิวาต์ ที่ทำให้ชาวบ้านและสัตว์เลี้ยง ในตำบลบางพระ ต้องล้มป่วยและตายจำนวนมาก วันหนึ่งชาวบ้านได้เกิดนิมิต ให้สร้างองค์พญายมขึ้น เพื่อสะเดาะเคราะห์ พร้อมทั้งนำเครื่องบวงสรวงมาเซ่นไหว้ แล้วแห่นำไปทั่วหมู่บ้าน เพื่อเป็นการทำพิธีขอขมาลาโทษ ต่อองค์พญายม และทำการปล่อยองค์พญายมลงทะเล เพื่อให้พญายมนำความทุกข์โศก โรคภัยไข้เจ็บ นำไปทิ้งทะเล เพื่อเป็นการแก้เคล็ด

ไปต่อกันที่อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี บริเวณชายหาดเกาะขามใหญ่ ทางตอนเหนือของเกาะสีชัง นายธวัช สุวรรณ นายอำเภอเกาะสีชัง เปิดงานเทศกาลสงกรานต์เกาะสีชัง วันไหลเกาะขามใหญ่ อุ้มสาวลงน้ำ หรือประเพณีสงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำที่เกาะขามใหญ่ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ภายในงานมีการจัดกิจกรรมที่เรียบง่าย เช่น พิธีทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ พิธีกองข้าวบวงสรวง การก่อพระเจดีย์ทราย และประเพณีอุ้มสาวลงน้ำ โดยงดการจัดกิจกรรมรื่นเริง

สำหรับ ประเพณีอุ้มสาวลงน้ำของอำเภอเกาะสีชัง มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 18 เมษายนของทุกๆปี ที่เกาะขามใหญ่ ชายหนุ่มหรือผู้สูงวัย จะเลือกสาวที่ชอบ แล้วขออนุญาตอุ้มลงเล่นน้ำทะเล ในระหว่างที่อุ้มลงน้ำ ก็จะอวยพรซึ่งกันและกัน ซึ่งนอกจากหนุ่มสาวแล้ว ผู้สูงอายุจะถูกลูกหลานอุ้มลงเล่นน้ำเช่นกัน

ส่วนที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี บรรยากาศงานวันไหลนาเกลือ เมื่อวานนี้ (18 เม.ย.) มีนักท่องเที่ยวแห่มาเล่นน้ำจำนวนมาก ทำให้รถติดยาวจนถึงถนนเส้นพัทยาเหนือ // ห้างร้านต่างๆ ต่างจัดเวทีมีเพลงมีดนตรีให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมเล่นสนุกกัน โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลรักษาความปลอดภัยตามจุดต่างๆ อย่างเข้มงวด

สำหรับประเพณีวันไหลนาเหลือและวันไหลพัทยานั้น ได้กำหนดให้เล่นถึง 20.00 น. โดยวันที่ 18 เมษายน จะเป็นวันไหลนาเกลือ ส่วนวันที่ 19 เมษายน จะเป็นวันไหลเมืองพัทยา ซึ่งจะมีการปิดชายหาดไม่ให้รถเข้าไปเล่น เพื่อให้เป็นจุดเล่นน้ำของนักท่องเที่ยว และจะควบคุมไม่ให้เล่นน้ำสงกรานต์บนถนนสุขุวิทเด็ดขาด

ปิดท้ายกันที่ จังหวัดสมุทรสาคร ที่วัดเกาะ หมู่ 2 ตำบลบ้านเกาะอำเภอเมืองสมุทรสาคร เนื่องแน่นไปด้วยพี่น้องชาวไทยเชื้อสายมอญ ทั้งหญิงชาย แต่งกายด้วยชุดมอญอย่างสวยงาม เข้าร่วมงานประเพณีสงกรานต์มอญ ที่จัดขึ้นที่วัดเกาะ ซึ่งสืบทอดกันมานานกว่า 30 ปีแล้ว

นายบัญญี ร้อยอำแพง ไวญาวัจกร วัดบ้านเกาะ เล่าว่า ทุกๆ ปี ในวันที่ 9-10 เมษายน จะจัดกิจกรรมกวนกาละแม เพื่อทำบุญ และจะจัดประเพณีสงกรานต์มอญ ขึ้นระหว่างวันที่ 13-18 เมษายน ในวันที่ 13-17 เมษายน เป็นการทำบุญตักบาตรบังสุกุลให้แก่ผู้ล่วงลับ แห่พระ แห่ธงตะขาบ และในวันที่ 18 เมษายน เป็นวันที่พี่น้องชาวไทยเชื้อสายมอญ ในจังหวัดสมุทรสาคร / นนทบุรี / ปทุมธานี จะเดินทางมาร่วมประเพณี ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมตลอดทั้งวัน