ไม่แนะนำให้มี แต่รู้ขอกฎหมายไว้เอาไว้ก็ดี... เปิดขั้นตอนการขอพกปืนอย่างไร ไม่ให้ผิดกฎหมาย

วันที่ 6 มี.ค.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหน้าเพจเฟซบุ๊กของ สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้แนะนำข้อกฎหมายที่ควรรู้ถึง การพกปืนอย่างไร...ไม่ผิดกฎหมาย พร้อมให้คำแนะนำว่า 'ปืนไม่ใช่ของเล่น ก่อนนำมาใช้ควรศึกษารายละเอียดก่อนพกอาวุธปืนคือสิ่งที่ไม่ใช่ว่าใครก็จะสามารถมี หรือหาซื้อมาพกพาติดตัวไว้ง่ายๆเหมือนซื้อตู้เย็น โทรศัพท์ โทรทัศน์ ฯลฯ แต่เป็นสิ่งของที่ผู้จะพกพา หรือหาซื้อต้องมีความจำเป็นหรือเหตุอันควรเท่านั้น หลายๆคนอาจไม่ทราบว่าการได้มาซึ่งอาวุธปืนอย่างไม่ถูกต้องนั้นจะส่งผลให้ติดคุกติดตารางกันได้ง่ายๆเลยทีเดียว

ทั้งนี้กฎหมายอนุญาตให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ ทหาร ตำรวจ อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่หรือผู้ได้รับมอบหมายให้มีหรือใช้อาวุธปืน อยู่ระหว่างการช่วยเหลือราชการและมีเหตุจำเป็นต้องมีและใช้อาวุธปืน

สำหรับ 5 ขั้นตอน การขอมีและใช้อาวุธปืน

1.ยื่นคำร้องขอ (ใบ ป.1) 2.นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน(ใบ ป.3) ภายใน 6 เดือนตั้งแต่ได้รับใบอนุญาต 3.ผู้ขอใบอนุญาตไปจัดหาซื้ออาวุธปืน และเครื่องกระสุนมาแล้ว ต้องนำอาวุธปืนนั้นไปให้นายทะเบียนตรวจสอบ 4.นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (ใบ ป.4) 5.การพกอาวุธปืนติดตัว (ใบ ป.12)ต้องขออนุญาตต่อ ผบ.ตร.

5 กรณีการอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืน

1.ใช้ป้องกันตัวเองและทรัพย์สิน 2.เพื่อการกีฬา 3.เพื่อการล่าสัตว์ 4.เก็บเป็นที่ระลึก 5.พกชั่วคราว (นักการทูตและผู้ติดตาม) ส่วนสถานที่ขออนุญาต นั้น กรณี กรุงเทพฯ ยื่นขอใบ ป.1-ป.4 ที่สำนักสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง  ยื่นขอใบ ป.12 กองบัญชาการสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีต่างจังหวัด ยื่นขอใบป.1-ป.12 ที่ว่าการอำเภอตามทะเบียนราษฏร

นอกจากนี้ มีข้อห้ามที่ระบุว่า บุคคลเหล่านี้ไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ ประกอบด้วย ต้องโทษจำคุกตาม ม.13 (พรบ.อาวุธปืน) ไม่บรรลุนิติภาวะ พิการ หรือ ทุพพลภาพ วิกลจริต หรือ จิตฟั่นเฟือน ไม่มีอาชีพและรายได้ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประพฤติผิดร้ายแรง

ขณะที่ข้อกฎหมายห้ามพกอาวุธปืนติดตัว นั้น ระบุว่า ห้ามพกอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ห้ามพกพาอาวุธปืนอย่างเปิดเผยหรือนำไปใช้ในที่ชุมนุมที่มีงานรื่นเริงต่างๆ ฝ่าฝืนจำคุก 6 เดือน - 5 ปี และ ปรับ 1000 - 10000 บาท

 

Cr.สำนักงานกิจการยุติธรรม