กระทรวงสาธารณสุขเตือนระวังโรคไข้เลือดออก พบ 2 เดือนเสียชีวิต 6 ราย พร้อมชี้แจงเด็กใน จ.สุรินทร์ ป่วยเป็นโรคไข้ดำแดง ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ ขออย่าตื่นตระหนก แต่เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

 

สธ.แจงโรคไข้ดำแดง ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ ชี้เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่าพบเด็กนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ ป่วยเป็นโรคไข้ดำแดง ว่า กรมควบคุมโรค ได้ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ของสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 9 นครราชสีมา ลงพื้นที่หลังจากได้รับรายงานทันที และป้องกันควบคุมโรคตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ให้โรงเรียนคัดกรองเด็กทุกเช้า ให้เด็กที่ป่วยหยุดเรียน พร้อมขอความร่วมมือผู้ปกครองเฝ้าระวังโรคและสังเกตอาการของบุตรหลานใกล้ชิด รวมถึงทำความสะอาดอุปกรณ์ ของใช้ และของเล่นต่างๆ

โรคไข้ดำแดงมักจะเกิดในเด็กอายุระหว่าง 2-8 ปี  อาการของโรคเริ่มจากมีอาการไข้ เจ็บคอ มีผื่นแดงตามลำคอ รักแร้ ลำตัว แขนหรือขา ลักษณะของผื่นเมื่อสัมผัสจะคล้ายกระดาษทราย ใบหน้าแดง ริมฝีปากซีด และอาจมีปื้นขาวที่ลิ้น ซึ่งภายหลังจะลอกออกทำให้ลิ้นมีลักษณะบวมแดง ส่วนการติดต่อมักเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการหรือผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ

สำหรับโรคไข้ดำแดงนั้น ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก แต่โรคนี้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แต่ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง

 

สธ. เตือนระวัง 'ไข้เลือดออก' ดับแล้ว 6 ราย

สำหรับ สถานการณ์โรคไข้เลือดออก นายแพทย์เจษฎา เปิดเผยว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม - 18 กุมภาพันธ์ มีผู้ป่วยรวม 4058 คน เสียชีวิต 6 ราย ภาคที่มีผู้ป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ 2693 ราย หรือร้อยละ 66.4 ของผู้ป่วยทั้งประเทศ กลุ่มที่พบมากสุด คือกลุ่มเด็กและเยาวชน ช่วงอายุ 5 - 24 ปี

คาดว่า จะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากบางพื้นที่ยังมีฝนตก ดังนั้นขอแนะนำประชาชนดูแลตนเอง และบุตรหลานไม่ให้ถูกยุงกัด ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในครัวเรือน ด้วยมาตรการ 3 เก็บ “เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ” ทำต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เพื่อตัดวงจรของลูกน้ำยุงลาย

หากบุตรหลานป่วยมีไข้สูงลอย อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส เบื่ออาหาร อาเจียน ไม่มีน้ำมูกและไม่ไอ หรือเมื่อทานยาแล้วไข้ไม่ลดลงภายใน 1-2 วัน ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

 

สธ.เตือนเข้าช่วงอีสุกอีใสระบาด เผย 2 เดือนป่วยกว่า 8 พันคน

ขณะที่นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง สถานการณ์ การระบาดของโรคอีสุกอีใส ในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูฝน ว่าตั้งแต่ 1 มกราคม – 19 กุมภาพันธ์ พบผู้ป่วยแล้ว 8064 คน แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต ดังนั้นจึงสั่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เฝ้าระวังสถานการณ์ระบาดโดยเฉพาะในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก เรือนจำ เพราะสามารถทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ง่าย

หากพบผู้ป่วยขอให้หยุดเรียน หยุดงานจนกว่าจะพ้นระยะการติดต่อ คือแผลแห้งตกสะเก็ดเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆ

สำหรับ โรคอีสุกอีใสเกิดจากเชื้อไวรัส ชนิดเดียวกับที่ทำให้เป็นโรคงูสวัด เชื้อจะกระจายตัวอยู่ในอากาศ ติดต่อทางการหายใจเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย การใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย การคลุกคลีใกล้ชิด สัมผัสน้ำเหลืองจากตุ่มพองใสที่ผิวหนังของผู้ป่วย

การป้องกันโรคทำได้โดยล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ใช้กระดาษทิชชู่หรือผ้าเช็ดหน้า ปิดปากปิดจมูกทุกครั้งเวลาไอ จาม หลีกเลี่ยงสถานที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ไม่คลุกคลีใกล้ชิด และไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย

หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

สธ.แจงโรคไข้ดำแดง ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ แต่ต้องเฝ้าระวัง