หลายจังหวัด เริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งแล้ว ชาวบ้านสาวนใหญ่ บอกว่า ปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งมาเร็วกว่าทุกปี และ ส่อเค้าว่าจะรุนแรงและยาวนาน
สถานการณ์ภัยแล้ง ในจังหวัดอุทัยธานี ส่อเค้ารุนแรงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะระดับน้ำในแม่น้ำสะแกกรัง อำเภอเมืองอุทัยธานี ตั้งแต่บ้านน้ำตก ไปจนถึง วัดอุโปสถาราม หรือ วัดโบสถ์ โบราณสถานและสถานที่ท่องที่สำคัญของจังหวัดอุทัยธานี ได้ลดระดับลงอย่างรวดเร็วผิดปกติจนชาวแพ 2 ริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง เดือดร้อนอย่างหนัก บางแพลูกบวบไม้ไผ่ที่ใช้พยุงแพให้ลอยน้ำเริ่มติดค้างบนเนินดินจนเสียหายส่วนเรือนแพหลังอื่นๆ นับร้อยหลังต้องเร่งชักลากลงร่องน้ำลึกลงกลางแม่น้ำเพื่อป้องกันลูกบวบไม้ไผ่ทุ่นลอยน้ำของแพได้รับความเสียหายอย่างเร่งด่วน
ชาวบ้านชุมชนชาวแพ เชื่อว่า สาเหตุที่ทำให้น้ำในแม่น้ำลดระดับลงอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะเกิดจากผลพวงการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาซึ่งอยู่ต่ำลงไปในจังหวัดชัยนาท รวมทั้งแหล่งต้นน้ำแม่น้ำสะแกกรัง จากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ไหลผ่านเขื่อนวังร่มเกล้า ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอเมืองอุทัยธานี นำแห้งไม่มีไหลลงมาเติมในแม่น้ำสะแกกรัง หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้จะกระทบต่อชาวบ้านชุมชนชาวแพกว่า 200 ครอบครัว การสัญจรทางเรือ ค้าขาย และการเลี้ยงปลากระชัง ซึ่งเป็นอาชีพหลักทำรายได้ของชุมชนชาวแพ จะได้รับความเสียหายไปด้วยและจากสถานการณ์ดังกล่าวยังเป็นการส่งสัญญาณว่าจะเกิดภัยแล้งอย่างรุนแรงอีกด้วย
นครสวรรค์ ชาวนาสูบน้ำกักเก็บไว้ทำนาช่วงหน้าแล้ง
ส่วนที่จังหวัดนครสวรรค์ ชาวนาหมู่ 10 ตำบลเขาดิน อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ เร่งสูบน้ำในคลองสาธารณะที่เหลือก้นคลอง มากักเก็บไว้ในบ่อน้ำของตัวเอง เพื่อเตรียมไว้ใช้ในการทำนาข้าวที่เพิ่งปลูกใหม่ หลังในพื้นที่ประสบกับปัญหาภัยแล้งที่มาเร็วกว่าปกติ
นายทวิทย์ รามประเสริฐ ชาวนาในพื้นที่ บอกว่า ในปีนี้ปัญหาภัยแล้งมาเร็วมาก ซึ่งคลองสาขาของแม่น้ำปิงก็เริ่มแห้งขอดแล้ว คาดว่าปัญหาภัยแล้งนี้ยังส่อเค้ารุนแรงและยาวนานต่อไปอีกหลายเดือนอย่างแน่นอน จึงต้องเร่งสูบน้ำในคลองมากักเก็บไว้ใช้ในบ่อน้ำเท่าที่จำเป็น เพื่อไว้ใช้สำหรับนาข้าว เพื่อป้องกันปัญหาต้นข้าวขาดน้ำแห้งตาย
กำแพงเพชร ชาวบ้านสูบน้ำบาดาลส่งผ่านคลองกังน้ำไว้ใช้
ขณะที่ ชาวนา หมู่ที่ 3 ตำบลทรงธรรม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ตั้งเครื่องสูบน้ำจากบ่อบาดาล เพื่อส่งน้ำผ่านคลองยาวประมาณ 2 กิโลเมตร โดยตั้งเครื่องสูบน้ำปลายทางอีก 1 เครื่อง เพื่อดึงน้ำไปกักเก็บไว้ในสระ ใช้รดต้นข้าวที่ปลูกไว้ช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากสถานการณ์น้ำในคลองธรรมชาติ ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว ระดับน้ำลดต่ำลงไม่ถึงปากท่อ จึงไม่สามารถส่งน้ำให้กับเกษตรกร ที่กำลังเพาะปลูกได้ เกษตรกจึงหันมาใช้วิธีสูบน้ำจากบ่อบาดาลแทน สำหรับ ในตำบลทรงธรรม มักจะประสบปัญหาภัยแล้งทุกปี เนื่องจากเป็นพื้นที่ดอนสูง
ศรีสะเกษ เกษตรกรเร่งสูบน้ำใช้หน้าแล้ง
และที่ ตำบลคอนกาม อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ ชาวบ้านต้องใช้เครื่องสูบน้ำจำนวนหลายเครื่อง เพื่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยครก ปล่อยเข้าสู่คลองส่งน้ำไปให้สวนพืชผักที่กำลังเจริญเติบโต ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มได้รับความเสียหายจากปัญหาการขาดแคลนน้ำแล้ว ภายหลังจากระดับน้ำต่ำกว่าประตูระบายน้ำ ส่งผลให้น้ำไม่สามารถไหลผ่านได้ ชาวบ้านต้องลงทุนให้เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าขนาดเล็กหลายเครื่องมาช่วยกันสูบน้ำ แก้ปัญหาภัยแล้ง ในขณะที่เกษตรกรในอีก 3 ตำบล ของอำเภอยางชุมน้อย เริ่มหาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้สำหรับทำการเกษตรแล้ว ซึ่งจะใช้บ่อบาดาล เพราะมีน้ำจากใต้ดิน รวมทั้งสำรองน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคด้วย
ขณะเดียวกัน ที่อำเภออุทุมพรพิสัย ได้ประกาศพื้นที่ภัยแล้งแล้ว กว่า 1 หมื่นไร่ โดยขอความช่วยเหลือไปยังสำนักงานป้องกันสาธารณะภัยจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อให้ความช่วยเหลือแล้ว