ข่าวดีสำหรับคนมีหนี้ ความคืบหน้าการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยแพงๆ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรามีผลบังคับใช้แล้ว
เมื่อวานนี้ (๑๕ มกราคม) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ. ๒๕๖๐ แล้ว สาระสำคัญ คือ การบังคับใช้กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินกว่า 15% ให้เข้มงวดมากขึ้น โดยแก้ไขกฎหมายเพิ่มโทษ ทั้งจำและปรับให้หนักขึ้น โทษสูงสุดถึงจำคุก 2 ปี และ ปรับสองแสนบาทเพื่อช่วยให้การกวาดล้างเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบลดเหลือน้อยที่สุด
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทยอยพิจารณาออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการที่สนใจเปิดให้บริการ ผ่านโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อผู้ประกอบอาชีพ (นาโนไฟแนนซ์) โดยได้รับใบอนุญาตนาโนไฟแนนซ์แล้ว 29 ราย แบ่งเป็น เปิดให้บริการแล้ว 21 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 6 ราย และคืนใบอนุญาตแล้ว 2 ราย เนื่องจากข้อกำหนดของการปล่อยสินเชื่อที่รัดกุม เพราะผู้ที่ขอสินเชื่อต้องนำไปประกอบอาชีพเท่านั้น ส่งผลให้การทำธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้พบว่าจำนวนผู้ประกอบการได้เปิดให้บริการแล้ว 21 ราย ปล่อยให้สินเชื่อไปแล้ว 66146 ราย คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 1710.7 ล้านบาท อัตราเฉลี่ยวงเงินรายละ 10000-20000 บาท ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าเป็หมายที่ตั้งไว้ ที่มีอัตราเฉลี่ยรายละ 100000 บาท ประกอบกับผู้ประกอบการที่เปิดให้บริการส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก ทำให้การทำธุรกิจยังคงกระจุกตัว ซึ่งยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ
การแก้ไขหนี้นอกระบบมี 5 มิติ หนึ่งในนั้นมีเรื่องธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (พิโกไฟแนนซ์) ที่กระทรวงการคลังคาดหวังว่าจะมาเป็นแหล่งเงินกู้ประชาชน แทนเจ้าหนี้นอกระบบ โดยเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้นอกระบบมาทำธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ด้วย ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังออกมาตรการนาโนไฟแนนซ์ แต่ยังไม่บูม เพราะเงื่อนไขเข้ม กว่าพิโกไฟแนนซ์ ทั้งเรื่องทุนจดทะเบียน นาโนไฟแนนซ์ต้องมี 50 ล้านบาท ขณะพิโกไฟแนนซ์ ทุนจดทะเบียนเพียง 5 ล้านบาท การปล่อยกู้นาโนไฟแนนซ์มีเงื่อนไขคือต้องนำไปประกอบอาชีพ วงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนพิโกไฟแนนซ์ กำหนดเพียงวงเงิน 5 หมื่นบาท ไม่มีเงื่อนไขเรื่องนำไปประกอบอาชีพ ถือว่าผ่อนปรนมากกว่า นอกจากนี้นาโนไฟแนนซ์ต้องได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ธปท.เป็นผู้กำกับดูแล อาจเข้มข้นกว่าพิโกไฟแนนซ์ ที่กระทรวงการคลังกำกับดูแลเอง ส่วนขอบข่ายการปล่อยกู้นาโนไฟแนนซ์ทำได้ทั่วประเทศ แต่พิโกไฟแนนซ์ปล่อยกู้ได้แค่ในพื้นที่ที่ผู้ขอใบอนุญาตมีถิ่นฐาน
สำหรับดอกเบี้ย ทั้งพิโกไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์ สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยถึง 36% ต่อปี ถ้าเทียบกับเงินกู้นอกระบบถือว่าถูกกว่ามาก แต่ถ้าเทียบกับกฎหมายห้ามคิดดอกเบี้ยเกิน 15% จะสูงกว่า เป็นการเปิดช่องให้กลุ่มทุนปล่อยกู้นอกระบบเข้ามาสู่ระบบถูกกฎหมายมากขึ้น