ปัญหาข้อพิพาทระหว่างนายทุนผู้ครอบครองเอกสารสิทธิ์ กับชาวเลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ถึงแนวทางการแก้ปัญหา ชาวเลหาดราไวย์จึงพยายามรวบรวมหลักฐาน ซึ่งเป็นของเก่ามายืนยันว่าอาศัยอยู่ที่นี้มาก่อนนายทุน
ชาวเลนำครกไม้เก่าที่มีอายุกว่าหนึ่งร้อยปี มายืนยันว่า เป็นของบรรพบรุษชาวเลหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ตเช่นเดียวกับตะกร้าใส่ของที่ทำด้วยใบเตยตากแห้ง และพานทองเหลือง ที่บรรพบุรุษชาวเล ใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อมาหลายร้อยปี ก่อนที่นายทุนจะเข้ามา และกลับมีสิทธิ์ครอบครองที่ดิน จนนำไปสู่ความขัดแย้งหลังนายทุนให้ชาวเลออกนอกพื้นที่
นอกจากนี้ ยังมีภาพถ่ายในพื้นที่พิพาท เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชาวเลชุมชมราไวย์ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2502 ซึ่งชาวบ้านขอจากกลุ่มมิชชันนารี่ ที่เข้ามาในช่วงดังกล่าว เพื่อมายืนยันว่า ชาวเลราไวย์ อาศัยอยู่จริง ก่อนที่กลุ่มนายทุนจะเข้ามา แล้วมีเอกสารครอบครองสิทธิ์ตามกฏหมาย
พร้อมกันนี้ ชาวเลได้นำแผนที่ชุมชน ที่เส้นสีม่วง แสดงแนวเขตของที่ดินที่นายทุนมีเอกสารครอบครองสิทธิ์ ซึ่งเป็นจุดที่มีความสำคัญกับชาวเลหาดราไวย์ ทั้งเป็นที่ประกอบพิธีกรรม รวมถึงทางเดินที่ครั้งพระบาทสม เด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จด้วย
สำหรับพื้นที่ ที่นายทุนมีเอกสารครอบครองสิทธิ์ ไม่ใช่แค่เพียงเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเล แต่ยังรวมถึงพื้นที่ที่ชาวเล ใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ ซึ่งเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ที่ชาวเลใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวเช่นเดียวกับการนับถือศาสนาของคนทั่วไป ข้อพิพาทที่เกิดขึ้น จึงย่อมสร้างความรุนแรง เมื่อปัญหานี้จะนำไปสู่การทำลายพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ที่บ่งบอกความเป็นชาติพันธ์ชาวเล หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต