พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระอัจฉริยภาพในหลายๆด้าน ซึ่งหนึ่งในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านคือการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมให้กับพสกนิกรในทุกพื้นที่ โดยหนึ่งในนั้นคือ 'เขื่อนนเรศวร' ที่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมทุ่งสาน จังหวัดพิษณุโลกได้
ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปีในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะบริเวณทุ่งสาน อำเภอพรหมพิราม ซึ่งจะถูกน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรกว่า 95,000 ไร่ มาโดยตลอด กระทั่งในปี พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงมีพระราชดำริ ให้มีการก่อสร้างเขื่อนนเรศวร เพื่อทดน้ำในแม่น้ำน่านที่ไหลจากเขื่อนสิริกิติ์ เป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ทุ่งสา และพื้นที่โดยรอบ พร้อมกับสามารถกักเก็บไว้ในฤดูแล้ง และเป็นที่แหล่งน้ำทางชลประทานทางการเกษตรอีกด้วย
นายสุรินทร์ ทรัพย์สกุล หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำเขื่อนนเรศวร เล่าว่า ภายหลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระราชดำริให้ก่อสร้างเขื่อนนเรศวร ขึ้นในปี พ.ศ. 2518 แล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก็ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานเปิดป้ายเขื่อนนเรศวรอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2525 ซึ่งในครั้งนั้นมีประชาชนชาวพิษณุโลกและใกล้เคียงเดินทางมารับเสด็จกันจำนวนมาก
สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเกษตรชลประทานพิษณุโลก เพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนสิริกิติ์ ที่อยู่ทางด้านเหนือน้ำประมาณ 176 กิโลเมตร โดยตัวเขื่อนมีการก่อสร้างบานประตูระบายน้ำ 5 ช่อง สามารถระบายน้ำได้ 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อส่งน้ำเพื่อนำน้ำไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูก บริเวณสองฝั่งแม่น้ำน่านจำนวนกว่า 150,000 ไร่ ซึ่งหลังจากมีเขื่อนนเรศวรแล้ว ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ทุ่งสานก้ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านได้เป็นอย่างดี