สิ่งหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจแชร์ต่อๆ กัน มากที่สุดในขณะนี้ คือ ส.ค.ส.พระราชทาน ซึ่งคนไทยถือเป็นบัตรส่งความสุข ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประดิษฐ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง เพื่อพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ของทุกปี
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้กล่าวถึง กำเนิด ส.ค.ส. พระราชทานฉบับแรก พร้อมบอกเล่าถึง รูปแบบ ความหมาย คุณค่าที่สอดแทรกอยู่ใน ส.ค.ส. พระราชทานแต่ละปีว่า ส.ค.ส. พระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2529 ซึ่งเป็น ส.ค.ส. พระราชทาน สำหรับปี 2530 โดยมีเนื้อความว่า 'ถึงเจ้าหน้าที่ และสมาชิกผู้เกี่ยวข้อง กส.9 ขอขอบใจทุกคน และถือโอกาสอวยพร ปีใหม่ ด้วยถ้อยคำต่างๆ ให้พิจารณา ดังต่อไปนี้
เห็นตรง หมั่นเพียร แจ้งสว่าง พูดไพเราะ งามสุจริต สวยงาม จิตมั่นคง คิดดีสงบ ร่มเย็น เป็นทางขจัดทุกข์โศก บรรลุความสุกความเจริญ กส.๙ ปรุง. ๓๑๑๔๓๐ ธ.ค. ๒๕๒๙ ถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ใน ส.ค.ส. ฉบับแรกนี้มีใจความสั้น บริเวณรอบ ๆ ส.ค.ส. ไม่มี การตกแต่งลวดลายใด ๆ โดยแรกเริ่ม ส.ค.ส. พระราชทานฉบับนี้ ได้พระราชทานให้แก่เฉพาะหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท โดยทรง Print ออกจากคอมพิวเตอร์ และแฟกซ์พระราชทานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ โดยทั่วถึงกัน นับแต่นั้นมาพระองค์ก็ได้พระราชทานเรื่อยมาโดยทุกข้อความและถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ใน ส.ค.ส. พระราชทานแต่ละปี จะประมวลขึ้นจากสภาพเหตุการณ์บ้านเมือง โดยมุมหนึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา และอุปสรรคต่าง ๆ ที่ประเทศชาติต้องประสบในรอบระยะ 1 ปีที่ผ่านมา
สำหรับรูปแบบของ ส.ค.ส. พระราชทาน นับจากปีแรกซึ่งยังไม่มีการตกแต่งลวดลาย ใด ๆ เรื่อยมาจนถึงช่วงระหว่างปี 2532-2537 ได้เริ่มมีการประดับประดาเป็นรูปทรง ส.ค.ส. มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลวดลายเส้นตรง เส้นเฉียง รูปดาวต่าง ๆ เก๋ไก๋ จนกระทั่งปี 2538 เป็นต้นมา ลวดลายที่ปรากฏจะยากขึ้นตามลำดับ มีภาพเครื่องดนตรีหลากชนิด ภาพหัวใจ ภาพประกอบในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นจากฝีพระหัตถ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งสิ้น เป็นที่ทราบกันดีว่า ส.ค.ส. พระราชทานทุกปี ล้วนมีความหมายลึกซึ้งซ่อนอยู่ภายใน ไม่ว่าจะเป็นโดยตรงจากข้อความ จากลวดลาย หรือแม้กระทั่งสีสันที่ปรากฏ ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ส.ค.ส. ที่พระองค์พระราชทานในแต่ละปี ล้วนเป็นสีขาว-ดำ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้
ดร.สุเมธ ได้แสดงทรรศนะถึงความตั้งพระราชหฤทัยในการจัดทำ ส.ค.ส. ด้วยสีดังกล่าวว่า เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงต้องการสะท้อนให้ลูกหลานไทยได้เห็นถึงตัวอย่างของความประหยัด มัธยัสถ์ สิ่งของหลาย ๆ สิ่งแม้จะไม่มีสีสันดึงดูดตา แต่ก็มากมายด้วยความหมาย พระองค์พยายามทำทุกสิ่งให้เกิดประโยชน์ตลอดเวลา ทรงรักความเรียบง่าย ยึดมั่นในความหมาย และคุณค่า ของสรรพสิ่งเป็นที่ตั้ง มากกว่าจะมองกันที่ความสวยงาม ฟุ้งเฟ้อ'