มาริษ เผยผลประชุม UNSC ย้ำไม่มีการออกเอกสาร ให้ 2 ชาติ แก้ปัญหาด้วยการเจรจาโดยสันติ

วันที่ 26 ก.ค.68 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงภายหลังเดินทางกลับจากการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ High-Level Political Forum (HLPF) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ว่า ในการประชุมดังกล่าว ตนได้มีโอกาสหารือกับผู้แทนระดับสูงจากยูเอ็น และประเทศต่างๆ อย่างกว้างขวาง ถึงประเด็นพัฒนาการสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา

นายมาริษ กล่าวว่า เวลาที่ปฏิบัติภารกิจที่สหประชาชาติ ตนได้ติดตามสถานการณ์และเหตุปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 24 ก.ค. 2568 ที่ฝ่ายกัมพูชาเป็นผู้ที่เริ่มเปิดฉากโจมตีก่อน ซึ่งได้โจมตีสถานที่ ที่ไม่ใช่เป้าหมายทางทหาร เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ปั๊มน้ำมัน และร้านสะดวกซื้อ ในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่า กัมพูชาตั้งใจจะโจมตีพื้นที่พลเรือน ส่งผลให้มีพลเรือนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในผู้เสียชีวิตคือ เด็กอายุเพียง 8 ขวบ
ทั้งนี้ เชื่อว่า ไม่มีประเทศไหนยอมรับการกระทำเหล่านี้ได้ ซึ่งกัมพูชาเอง ก็เป็นประเทศที่ย้ำมาตลอดว่า เป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบของประชาคมระหว่างประเทศ แต่กลับกระทำการที่ละเมิดหลักการพื้นฐานอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย และขอย้ำว่า การกระทำเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ละเมิดอธิปไตยของไทย แต่ยังละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ กฎบัตร UN และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังเป็นการละเมิดศีลธรรมขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่ควรได้รับการประณามอย่างเต็มที่จากประชาคมระหว่างประเทศ

นายมาริษ กล่าวว่า ทันทีที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์ไปแล้ว คือ
1.ประณามอย่างรุนแรงที่สุดต่อการรุกรานของกัมพูชา

2.ประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตและเรียก ออท. ณ กรุงพนมเปญ
กลับไทย และขอให้ ออท.กพช. กลับ ปท. เช่นกัน และ

3.เรียกร้องให้กัมพูชาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยุติการโจมตีเป้าหมายทางทหารและพลเรือน รวมถึงยุติการละเมิดอธิปไตยของไทยโดยทันที ผมขอแสดงความเสียใจ อย่างยิ่งต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

นอกจากนี้ เมื่อคำนึงถึงกรณีการวางทุ่นระเบิดใหม่ของกัมพูชาในดินแดนของอธิปไตยของไทย ซึ่งเรามีหลักฐานชัดเจน และหน่วยงานความมั่นคงได้มีการพิสูจน์ทราบอย่างชัดเจนแล้ว และทำให้ทหารไทย 2 นายบาดเจ็บสาหัสจากการสูญเสียขาถาวร ตนเสียใจอย่างมากกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกแล้วในปัจจุบัน และขอชื่นชมในความกล้าหาญของทหารทุกท่านที่เสียสละเพื่อชาติและรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยของไทยที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินการทุกอย่างด้วยความจริงใจและความสุจริตใจ (in good faith) ในการแก้ไขปัญหาเขตแดนกับกัมพูชามาตลอด แต่เมื่อฝ่ายกัมพูชาเลือกที่จะละเมิดอธิปไตยของไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในฐานะ รมว.กต. จึงจำเป็นต้องเดินทางไปชี้แจงกับประชาคมระหว่างประเทศด้วยตนเองและโดยเร็วที่สุด

สำหรับการชี้แจงต่อประชาคมระหว่างประเทศ ที่นอกเหนือจากการเข้าร่วมการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ HLPF การไป UN ครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาต่อนานาประเทศ ซึ่งตนได้กล่าวถ้อยแถลงในช่วงการอภิปรายแบบเปิดในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC รวมทั้งพบหารือกับผู้แทนระดับสูงของประเทศและองค์การ รปท. ต่าง ๆ เช่น (1) เลขาธิการ UN (2) รนรม./รมว.กต. ปากีสถาน (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธาน UNSC) (3) รมว. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ปานามา ซึ่งจะทำหน้าที่ประธาน UNSC วาระถัดไป และ (4) รมช.กต. ญี่ปุ่น ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการประจำอนุสัญญาออตตาวา และ (5) ผู้แทนประธานาธิบดีรัสเซีย ในฐานะประเทศที่เป็นสมาชิกถาวรของ UNSC และในการพบหารือกับบุคคลสำคัญเหล่านี้ ตนได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาที่เกิดขึ้น ว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายละเมิดอธิปไตยของไทยก่อน พร้อมย้ำท่าทีไทยที่จะแก้ไขปัญหาเขตแดนกับฝ่ายกัมพูชาอย่างสันติและด้วยความสุจริตใจ (in good faith) ผ่านกลไกทวิภาคีมีอยู่ และ การละเมิดอนุสัญญาออตตาวาของกัมพูชา ต่อกรณีการวางทุ่นระเบิดใหม่ในเขตอธิปไตยของไทย และการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศต่างๆ ของกัมพูชา

ส่วนกรณีที่ฝ่ายกัมพูชายื่นหนังสือถึงประธาน UNSC นั้น เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้เข้าพบ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรปากีสถาน ณ นครนิวยอร์ก ในฐานะประธาน UNSC ประจำเดือน ก.ค. 2568 เพื่อยื่นหนังสือชี้แจงเหตุการณ์การใช้กำลังทางทหารที่เริ่มโดยฝ่ายกัมพูชา การละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมถึงขอให้เวียนหนังสือดังกล่าวของไทยเป็นเอกสารของ UNSC เพื่อให้ประเทศสมาชิก UNSC ได้รับทราบอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ เมื่อคืนนี้ เวลา 15.00 น. เวลาท้องถิ่นของนครนิวยอร์ก (ประมาณ 02.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) UNSC ได้จัดการประชุมแบบปิดเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยมี 15 ประเทศสมาชิก UNSC รวมถึงไทยและกัมพูชาเข้าร่วม ตนได้รับรายงานจาก เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ว่า ในที่ประชุมเมื่อวานนี้ ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา รวมทั้งสมาชิกประเทศ UNSC ทุกประเทศได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุม

โดยสรุป ฝ่ายไทยได้ย้ำจุดยืนว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายเปิดฉากยิงก่อน โดยได้โจมตีสถานที่ที่ไม่ใช่เป้าหมายทางทหารอย่างต่อเนื่อง ลึกเข้ามาในเขตแดนไทยมาก ส่งผลให้มีพลเรือนไทยเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและหลักการมนุษยธรรมอย่างร้ายแรง ตามที่ทุกท่านได้เห็นในถ้อยแถลงฉบับเต็มที่ได้เผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบแล้ว

นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของประเทศสมาชิก UNSC ที่เข้าร่วมประชุม ไม่ได้เน้นประเด็นใดเป็นพิเศษ เพียงแต่กล่าวถึงหลักการกว้าง ๆ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เรียกร้องให้กัมพูชาและไทยใช้การยับยั้งชั่งใจ ลดความตึงเครียด หยุดยิง และแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ซึ่งรวมถึงการใช้การทูตและการเจรจาทวิภาคีบนพื้นฐานของหลักการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี รวมถึงสนับสนุนบทบาทของอาเซียนในการใกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ตามหลักการของกฎบัตรอาเซียน และย้ำว่า สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ตนขอย้ำว่า ที่ประชุม UNSC ไม่ได้มีมติหรือการออกเอกสารใด ๆ

นายมาริษ ยังได้ขอบคุณนายกรัฐมนตรี Anwar Ibrahim ในบทบาทและข้อเสนอหยุดยิง (ที่ไทยเห็นด้วยอย่างยิ่งในหลักการ โดยกัมพูชาจะต้องหยุดโจมตีและแสดงความจริงใจอย่างชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมากัมพูชาไม่ได้แสดงความจริงใจที่จะยุตติปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการโจมตีพื้นที่ที่เป็นพลเรือน เป็นอะไรที่รัฐบาลไทยยอมรับไม่ได้ ดังนั้นกัมพูชาจะต้องแสดงความจริงใจ และยุติการโจมตีประเทศไทย ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับประธานอาเซียน เและพร้อมที่จะหารือกับมาเลเซียอย่างต่อเนื่องและสร้างสรรค์เพื่อหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าวต่อไป

ส่วนกรณีข่าวปลอมเรื่องเขาพระวิหาร นายมาริษ ชี้แจงว่า ที่กัมพูชาออกแถลงการณ์กล่าวหาว่า กองทัพไทยได้รุกรานและสร้างความเสียหายให้ตัวปราสาทพระวิหาร ตนขอยืนยันข้อเท็จจริงอีกครั้งว่า เรื่องนี้เป็นการกล่าวหาซึ่งไร้หลักฐาน และไม่เป็นความจริงอย่างสิ้นเชิง โดยการปะทะกันระหว่างกองกำลังไทยกับกัมพูชา เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายเปิดฉากยิงก่อน บริเวณห้วยตามะเรีย และภูมะเขือนั้น พื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างจากตัวปราสาทพระวิหารถึง 2 กิโลเมตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีกระสุนหรือสะเก็ดระเบิดที่มีวิถีไกลไปถึงตัวปราสาทพระวิหาร โดยทั้งหมดนี้ ฝ่ายไทยได้ชี้แจงไปแล้วโดยหนังสืออย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกรมองค์การ กระทรวงการต่างประเทศ ทำหนังสือประท้วงเรื่องการโจมตีเป้าหมายพลเรือน ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถรับได้ ไปยังคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศและ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่าด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้าย นายมาริษ ระบุว่า ประเทศไทยขอยืนยันเจตนารมณ์ในการแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธีบนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และพร้อมร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการธำรงสันติภาพและเสถียรภาพ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ฝ่ายกัมพูชายุติการกระทำที่เป็นการละเมิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาอย่างจริงใจและสุจริตใจ

สุดท้ายนี้ ขอร่วมส่งกำลังใจให้แก่พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ครับ ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่า ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศจะทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มความสามารถเพื่อปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ศักดิ์ศรีและสถานะของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และยึดถือผลประโยชน์และความปลอดภัยของคนไทยไว้เหนือสิ่งอื่นใด อย่างที่เคยทำมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงนาทีนี้

ส่วนที่กัมพูชามีการละเมิดอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน กระทรวงการต่างประเทศ จะยื่นเรื่องตามอนุสัญญาเจนีวา หรือไม่ นายมาริษ กล่าวว่า “แน่นอน” โดยที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้ทำหนังสือประท้วงไปอย่างรุนแรง ในส่วนขององค์กรต่างๆ ทั้งยูเอ็น และอนุสัญญาต่างๆ โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงกรมองค์การระหว่างประเทศ จะพิจจารณาร่วมกันว่าจะไปในลักษณะไหน แต่ที่พูดได้คร่าวๆ คือ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ICRC (กาชาดสากล)
ทั้งนี้ จากเหตุโจมตีเป้าพลเรือน ไทยจะสามารถนำกัมพูชาขึ้นศาลอาญาโลก ฐานเป็นอาชญากรรมสงครามได้หรือไม่ นั้น นายมาริษ เปิดเผยว่าขณะนี้ ได้มอบหมายให้กรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ พิจารณาอยู่ว่าจะสามารถดำเนินการถึงขั้นนั้นได้หรือไม่ เพราะการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาโลกหรือ ICC มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงต้องมีการดำเนินการอย่างรอบคอบและมีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนถึงจะสามารถดำเนินการได้ จะไม่ ดำเนินการหากพยานหลักฐานยังไม่พร้อม เพราะหากยื่นไปแล้วหลักฐานไม่ครบอาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศได้

ส่วนมีประเทศที่สาม เข้ามาช่วยเจรจาเรื่องนี้หรือไม่ นายมาริษ กล่าวว่า เจรจาเราต้องการใช้การเจรจาทั้งสองฝ่ายอยู่บนพื้นฐานหลักการสันติ ซึ่งช่วงที่ตนอยู่ที่นิวยอร์กไม่มีประเทศที่สามหรือใครมาพูดกับตน
ขณะที่​ นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ​ กล่าาว่า​ การโจมตีบุคคลพลเรือน สถานที่ของพลเรือน และสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ อย่างไม่เลือกเป้าหมาย ของกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานพยาบาล ถือเป็นการอาจละเมิดอนุสัญญา เจนีวา คศ. 1949 อย่างชัดเจนและอย่างร้ายแรง รวมถึงข้อ 19 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่​ 1 ว่าด้วยการคุ้มครองหน่วยแพทย์และสถานพยาบาล​ และข้อ 18 ของอนุสัญญาเจนีวา​ ฉบับที่ 4​ ว่าด้วยการคุ้มครองโรงพยาบาลฝ่ายพลเรือน ดังนั้น​ ประเทศไทยขอประณามอย่างรุนแรง ของการกระทำอันไร้มนุษยธรรมเช่นนี้​ ซึ่งขัดต่อพันธะกรณี ภายใต้อนุสัญญาเจนีวา​ ชัดเจน​ รัฐบาลไทยจะมีหนังสือถึงประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ​ "ไอซีอาร์ซี" เพื่อทำการประนาม การกระทำอย่างรุนแรง​ ต่อการละเมิดกฎหมาย มนุษยธรรมระหว่างประเทศ อย่างร้ายแรง อยากเป็นลายลักษณ์อักษรต่อไป