กองทัพบก เชิญผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศ ชี้แจงข้อเท็จจริง หลักฐานร่องรอยการขุดวางทุ่นระเบิดใหม่ที่ช่องบก และการบิดเบือนข่าวสารของกัมพูชา

วันที่ 22 ก.ค. 2568 กองทัพบกโดยกรมข่าวทหารบก ได้เชิญผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย รวม 18 ประเทศ (เวียดนาม, มาเลเซีย, เมียนมา, สิงค์โปร, อินเดีย, ญี่ปุ่น,ฟิลิปปินส์,อังกฤษ, บรูไน, ปากีสถาน, ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย, จีน, เยอรมัน, ฝรั่งเศส, กัมพูชา และรัสเซีย) เข้าร่วมประชุมรับฟังคำชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์และกรณีการวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในพื้นที่ช่องบก จ.อุบลราชธานี โดยมี พลโท กำชัย วงศ์ศรี เจ้ากรมข่าวทหารบก เป็นประธานในการประชุม ณ อาคารศรีสิทธิสงคราม ภายในกองบัญชาการกองทัพบก

สำหรับข้อมูลที่กรมข่าวทหารบกได้ชี้แจงต่อผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย ประกอบด้วย รายละเอียดสถานการณ์และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ทหารไทยเหยียบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในวันที่ 16 ก.ค. 68 พร้อมยืนยันอย่างชัดเจนว่า ทุ่นระเบิดที่พบไม่ใช่ของไทย โดยหน่วยพิสูจน์ทราบได้พิสูจน์ทราบว่าหลุมระเบิดนั้นได้พบเศษวัตถุระเบิดชนิด PMN-2 และพบทุ่นระเบิดเพิ่มอีก 2 จุด และจากการตรวจพบทุ่นระเบิดดังกล่าว ยืนยันว่า ทั้งหมดเป็นระเบิดชนิด PMN-2 มีสภาพใหม่พร้อมทำงาน ปรากฏตัวอักษรชัดเจนบริเวณด้านข้างทุ่นระเบิด ซึ่งทุ่นระเบิดชนิดนี้กองทัพไทยไม่มีอยู่ในระบบยุทโธปกรณ์

ขณะเดียวกัน พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าบริเวณวางทุ่นระเบิดยังไม่มีวัชพืชหรือรากไม้ขึ้นปกคลุม และพบร่องรอยของการขุดเพื่อวางทุ่นระเบิดอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่า ในปี 2565 ฝ่ายไทยได้ดำเนินการกวาดล้างทุ่นระเบิดในพื้นที่บริเวณช่องบก และไม่มีการตรวจพบทุ่นระเบิด PMN-2 แต่อย่างใด จากข้อมูลทั้งหมดบ่งชี้ว่าทุ่นระเบิด PMN-2 ที่ตรวจพบ เป็นการวางหลังจากเกิดเหตุปะทะเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 68 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ กรมข่าวทหารบกยังได้ชี้แจงในกรณีที่ฝ่ายกัมพูชาบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยเผยแพร่ภาพและคลิปภารกิจการฝึกเก็บกู้ทุ่นระเบิดของหน่วย TMAC ของไทย พร้อมกล่าวหาว่า ฝ่ายไทยเป็นผู้วางทุ่นระเบิด ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ในช่วงท้ายของการประชุม ฝ่ายไทยยังได้แสดงจุดยืนในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งในมิติความสัมพันธ์ทวิภาคีและพันธะกรณีระหว่างประเทศ โดยประเทศไทยให้ความสำคัญกับการเจรจาในกรอบทวิภาคีกับกัมพูชา เพื่อร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งประเทศไทยคาดหวังว่าฝ่ายกัมพูชาจะให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง โดยเฉพาะการเข้าร่วมการประชุม JBC, GBC, และ RBC ในอนาคต เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างสองประเทศอย่างรอบด้านเพื่อประโยชน์สูงสุดร่วมกัน