ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาเพิกถอนคำสั่ง ก.คลัง มีผลให้ "ยิ่งลักษณ์" ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายโครงการจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้าน แต่มีคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะขั้นตอนระบายข้าวจีทูจี 10,028 ล้านบาท ด้านทนายเตรียมนำหลักฐานระบายข้าว "ยุคลุงตู่-เศรษฐา" มูลค่าแสนล้าน ยื่นศาลปกครองตั้งคดีใหม่หักล้างค่าเสียหาย เชื่ออาจไม่ต้องเสียสักบาท

วันที่ 22 พ.ค. 2568 เมื่อเวลา 13.30 น. คณะผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุด นัดออกบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีที่กระทรวงการคลังยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่สั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 135/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการ เป็นเงินกว่า 35,717 ล้านบาท ในคดีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และสามี ร่วมกันยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงคลัง กรมบังคับคดี อธิบดีกรมบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร กรณีร่วมกันมีคำสั่งดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย เพิกถอนคำสั่งของกระทรวงการคลัง ที่สั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ชดใช้ค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้านบาท แต่มีคำสั่งให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะในส่วนขั้นตอนการระบายข้าว (จีทูจี) เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจทางปกครองดำเนินการ ซึ่งทาง ป.ป.ช. และ สตง. เคยทำหนังสือเตือนว่าอาจมีการทุจริต แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อระงับยับยั้ง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้เจ้าหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ ทำให้เกิดความเสียหายต่อรับการเงินการคลังของประเทศ มูลค่า 20,057,723,761.66 บาท และไม่มีเหตุอันควรยกเว้นความผิด จึงให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กระทรวงการคลัง ร้อยละ 50 ของความเสียหาย จำนวน 10,028,861,880.83 บาท

พร้อมให้เพิกถอนคำสั่งประกาศและการดำเนินการใดๆ ของกรมบังคับคดี อธิบดีฯ และเจ้าพนักงาน ที่มีคำสั่งประกาศหรือการดำเนินการใดๆ ในการยึดอายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อขายทอดตลอด และให้ปลัดกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลัง ดำเนินการสั่งเกี่ยวกับการขอกันส่วนทรัพย์สินของนายอนุสรณ์ อมรฉัตร (อดีตสามี) จำนวน 37 ราย ที่ถูกยึดเพื่อนำมาขายทอดตลาดตามสิทธิ์ พร้อมทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อกันส่วนของนายอนุสรณ์ในฐานะเจ้าของร่วม เพื่อแจ้งต่อเจ้าตัว ภายใน 60 นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่ง

ทั้งนี้ ภายหลังฟังคำพิพากษา นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการฟังคำพิพากษาว่า เงินจำนวน 10,028 ล้านบาท ไม่ได้กำหนดระยะเวลาชดใช้ แต่ทนายจะนำเอกสารมายื่นภายใน 90 วัน ซึ่งเป็นหลักฐานทางราชการเกี่ยวกับรายได้จากการระบายข้าวในโกดัง ตั้งแต่สมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงนายเศรษฐา ทวีสิน ที่มีนายภูมิธรรม เวชชัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมแล้วกว่า เกือบ 1 แสนล้านบาท เพื่อให้ศาลตั้งคดีใหม่ เชื่อจะหักลบกลบหนี้ได้ อาจทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ต้องชดใช้หนี้ หากศาลไม่รับพิจารณา ก็ต้องยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้นางสาวยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้หนี้ทั้งหมด 10,028 ล้านบาท

นายนรวิชญ์ ยืนยันอีกว่า การที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ขณะนั้น มีนายภูมิธรรม เวชชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขายข้าวโกดังล็อตสุดท้าย ไม่ได้เกี่ยวกับการปูทางเพื่อที่จะให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชดใช้ค่าเสียหาย แต่เป็นนโยบายของรัฐบาล หากมีข้าวคงเหลือก็ต้องขาย เพราะมีการขายมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปี 2557 เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ย้ำว่าเป็นการขายปกติของส่วนราชการ แต่บางรัฐบาลนำเข้าดีไปจัดเกรดเป็นข้าวเน่าขายได้กิโลกรัมละ 3 -5 บาท แต่ในยุคของนายภูมิธรรมที่ขายได้ราคาดี กิโลกรัมละ 18 บาท

พร้อมกันนี้ นายนรวิชญ์ ยังระบุอีกว่า คดีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกระแสข่าวที่นางสาวยิ่งลักษณ์จะเดินทางกลับประเทศไทยหรือไม่ คดีนี้เป็นคดีแพ่งไม่เกี่ยวกัน นางสาวยิ่งลักษณ์น่าจะเดินทางกลับได้ ขนาดนี้ยังไม่ได้คุยกัน แต่มีผู้ใหญ่ขอให้ช่วยดูคดีนี้อย่างเต็มที่ และไม่ทราบว่านางสาวยิ่งลักษณ์พำนักอยู่ที่ประเทศไหน ขออย่านำประเด็นนี้ไปกล่าวร้าย ใส่ร้ายนางสาวยิ่งลักษณ์เพราะตนรู้สึกสงสารท่านที่โดนคดีอาญา และคดีนี้ต้องชดใช้อีก 10,000 กว่าล้าน ย้ำว่าทีมทนายพร้อมจะสู้คดีให้กับนางสาวยิ่งลักษณ์หากมีช่องทางทางกฎหมาย เพื่อคืนความเป็นธรรม

ทั้งนี้ นายนรวิชญ์ ได้สวมไทด์สีน้ำเงิน ปักลายเซ็นนางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งได้รับตั้งแต่นางสาวยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี มาที่ศาลในวันนี้ด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองมีความตั้งใจในการทำคดีนี้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลาง เห็นว่า กระทรวงการคลัง ยอมรับว่า ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่านางสาวยิ่งลักษณ์เป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายโดยตรง และขั้นตอนการตรวจสอบของคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางละเมิดก็ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด