ควบคุมโรคที่ 9 ประเมินความเสี่ยงไข้หวัดใหญ่ แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นและมีโอกาสกระจายในวงกว้าง ปี 2568 ไม่ถึง 5 เดือน 4 จังหวัดอีสานล่างในเขตสุขภาพที่ 9 พบป่วยกว่า 35,000 รายแล้ว
วันนี้ (17 พฤษภาคม 2568) นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ช่วงนี้ในหลายพื้นที่มีสภาพอากาศแปรปรวนและมีพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ทุกเพศทุกวัย และมักพบการระบาดในกลุ่มก้อน เช่น โรงเรียน เรือนจำ ค่ายทหาร หรือสถานที่ทำงาน ซึ่งช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝน และสถานศึกษาต่างๆ เปิดภาคการศึกษาแล้ว จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเชื้อไข้หวัดใหญ่จะแพร่กระจายในสถานศึกษา โดยอาการของผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ จะมีไข้สูง มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และปวดเมื่อยตามตัว แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยเร็ว
และจากข้อมูลการประเมินความเสี่ยงการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ (Rapid Risk Assessment) ในเขตสุขภาพที่ 9 ปี 2568 พบว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่เขตสุขภาพที่ 9 อยู่ในระดับปานกลาง แม้ว่าจะสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และสูงกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นและมีโอกาสกระจายในวงกว้าง แต่ทีมสอบสวนโรคในพื้นที่ยังสามารถควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ได้
ซึ่งสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ปี 2568 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 - 10 พฤษภาคม 2568 เขตสุขภาพที่ 9 มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 35,598 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 539.44 ต่อประชากรแสนคน และมีผู้เสียชี คือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ตามลำดับ เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วยมากสุด 17,898 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 685.70 ต่อประชากรแสนคน , จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 6,282 ราย หรือ 462.83 ต่อประชากรแสนคน , จังหวัดชัยภูมิ 4,949 ราย หรืออัตราป่วย 462.66 ต่อประชากรแสนคน และจังหวัดบุรีรัมย์ ป่วย 6,469 ราย หรือ 414.18 ต่อประชากรแสนคน
สำหรับจังหวัดนครราชสีมา มีอำเภอที่มีจำนวนผู้ป่วยมากสุด คือ อำเภอเมืองนครราชสีมา จำนวน 4,697 ราย รองลงมา คือ อำเภอครบุรี 974 ราย , อำเภอเสิงสาง 874 ราย , อำเภอเทพารักษ์ มีผู้ป่วย 372 ราย , อำเภอลำทะเมนชัย 346 ราย , อำเภอบัวลาย 312 ราย และอำเภอบ้านเหลื่อม 215 ราย
จึงขอให้ประชาชนได้ระมัดระวังป้องกันตนเอง ด้วยการล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และสวมหน้ากากอนามัยหากจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว ส่วน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป , 2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี , 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน , 4.ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป , 5.ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ติดเชื้อ HIV , 6.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และผู้ที่ป่วยเป็นโรคอ้วน หรือมีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ให้รีบไปรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปี ปีละ 1 ครั้ง ที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน และดูแลรักษาอนามัยส่วนบุคคลเมื่ออยู่ในที่ที่มีคนรวมกลุ่มกันจำนวนมากด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ซึ่งขณะนี้ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เชิญชวนผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เฉพาะผู้มีสิทธิประกันสังคมที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฟรี! ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2568 โดยเปิดให้บริการทุกวันจันทร์ – ศุกร์ (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 08.00 – 11.30 น.