ถอดบทเรียนจากเรื่องราวของ "สุมาอี้" คู่ปรับคนสำคัญของ "ขงเบ้ง" ที่ใช้วิชาความอดทน ผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยากลำบากต่างๆ จนสร้างความสำเร็จตามที่ใจปรารถนาได้ในที่สุด

ในวรรณกรรมสามก๊ก ถ้าเปรียบเป็นการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน ก๊กของเล่าปี่ (จ๊กก๊ก) มีความเป็นสตาร์ตอัป เพราะก่อร่างสร้างตัวจาก 3 ผู้ก่อตั้ง ได้แก่ “เล่าปี่” , “กวนอู” และ “เตียวหุย” ก่อนเติบโตขึ้นมาเป็นก๊กใหญ่

โดยจุดเด่นของ CEO เล่าปี่ ก็คือ ความเป็นที่รักใคร่ของประชาชน อีกทั้ง “คนเก่งๆ” ก็อยากทำงานด้วย ดังนั้นเมื่อถึงจังหวะจะโคนที่ลงตัว ก๊กของเขาก็เติบโตอย่างรวดเร็ว 

ส่วนก๊กของโจโฉ (วุยก๊ก) มีจุดเริ่มต้นจากการที่สามารถของสู่อำนาจรัฐได้ และอาศัยอำนาจรัฐในการสร้างความเติบใหญ่ให้กับก๊กของตัวเอง ประกอบกับความเป็นผู้นำที่ฉลาดปราดเปรื่อง จึงทำให้ก๊กของ “โจโฉ” แกร่งที่สุดในเวลานั้น

ส่วน “ซุนกวน” เหมือนเป็นลูกเถ้าแก่ พ่อกับพี่ชายได้ก่อร่างสร้างกิจการจนมั่นคงแล้ว และที่ตั้งของ “ง่อก๊ก” ก็เป็นทำเลทอง “ซุนกวน” จึงเปรียบเหมือน CEO ผู้สืบทอดกิจการที่มีความสามารถ ทำให้ “ง่อก๊ก” เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปอีก

แต่ถึงแม้ “ตระกูลโจ” , “ตระกูลเล่า” , “ตระกูลซุน” จะห่ำหั่นกันอย่างสุดฤทธิ์เป็นเวลายาวนาน ก็ไม่มีตระกูลใดรวบรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งได้ แต่กลับกลายเป็น “ตระกูลสุมา” ของ “สุมาอี้”  ที่สุดท้ายแล้วได้แผ่นดินจีนทั้งหมดไปครอบครอง

 

 

1. “สุมาอี้” คู่ปรับคนสำคัญของ “ขงเบ้ง”

ในวรรณกรรมสามก๊ก “สุมาอี้” ถือได้ว่าเป็นคู่ปรับคนสำคัญของ “ขงเบ้ง” โดยตระกูลของเขารับราชการในราชสำนักมาอย่างยาวนาน และเมื่อ “โจโฉ” เข้ากุมอำนาจในเมืองหลวงได้สำเร็จ “สุมาอี้” ก็กลายเป็นคนในก๊กของ “โจโฉ” ไปโดยปริยาย

และแม้จะมีความฉลาดล้ำเลิศ แต่ “โจโฉ” ก็ไม่ไว้วางใจ รวมถึง “สุมาอี้” ก็ระมัดระวังตัวเอง ไม่กล้าโชว์ความสามารถมากนัก เพราะรู้ดีว่า “โจโฉ” เป็นคนขี้ระแวง ถึงจะชื่นชมคนเก่ง แต่ก็ไม่อยากให้ใครเด่นเกินหน้า

ดังนั้นในช่วงที่ “โจโฉ” ยังครองอำนาจ “สุมาอี้” จึงไม่ค่อยมีบทบาทนัก กระทั่งก่อน “โจโฉ” จะเสียชีวิต ก็ได้สั่งเสียกับ “โจผี” บุตรชายและ “โจยอย” หลานชาย ว่า “อย่าไว้วางใจสุมาอี้เด็ดขาด”

 

 

2. “สุมาอี้” VS “ขงเบ้ง”

กว่า “สุมาอี้” จะมีโอกาสแสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ อายุก็ล่วงเลยเข้าสู่วัยกลางคน ในสมัยที่ “โจยอย” หลานปู่ของโจโฉ เป็นผู้นำสูงสุด เพราะเวลานั้น “ขงเบ้ง” ซึ่งรู้ตัวว่าสุขภาพกำลังย่ำแย่ คงอยู่ได้อีกไม่นาน จึงพยายามบุก “วุยก๊ก” ครั้งแล้วครั้งเล่า หมายจะเผด็จศึกให้ได้ก่อนที่ตัวเองจะจากโลกนี้ไป

ในการต่อสู้กัน แม้ด้านสติปัญญา “สุมาอี้” จะเป็นรอง “ขงเบ้ง” แต่ก็ไม่ถึงขั้นทิ้งห่างกันมากนัก โดย “สุมาอี้” ดำเนินการการต่างๆ ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และอย่างมีน้ำอดน้ำทน จึงทำให้รอดพ้นหมากกลของ “ขงเบ้ง” มาได้ครั้งแล้วครั้งเล่า

อาทิเช่น ตอนที่ “ขงเบ้ง” สั่งให้ทหารไปยั่วยุให้ “สุมาอี้” ออกรบ และให้คนนำเสื้อผ้าสตรีไปมอบให้ พร้อมกล่าวว่า ถ้าไม่กล้าออกมาสู้กันก็นำชุดนี้ไปใส่ซะ โดยมีเหล่าทหารโห่ฮากันอย่างสนุกสนาน

แม้จะโกรธ แต่ “สุมาอี้” ก็พยายามข่มความรู้สึก และหลอกถามจนทราบว่า “ขงเบ้ง” ตรากตรำทำงานอย่างหนักจนแทบไม่เวลาพักผ่อน นำไปสู่การสมมติฐานด้านสุขภาพ ที่คาดว่ากำลังย่ำแย่

กลยุทธ์ที่ “สุมาอี้” ใช้โต้ตอบในเวลานั้น ก็คือการสงบนิ่งอยู่ในฐานที่มั่นอย่างอดทน ปล่อยให้เวลาและอาการป่วยไข้บีบบังคับให้ “ขงเบ้ง” ต้องถอยทัพกลับไปเอง ทำให้ “สุมาอี้” สามารถรักษาแผ่นดิน “จ๊กก๊ก” ไว้ได้ กระทั่งต่อมาในศึกครั้งสุดท้าย “ขงเบ้ง” ก็เสียชีวิตจากปัญหาสุขภาพกลางสนามรบ

 

 

3. “สุมาอี้” VS “โจซอง”

หลังจาก “ขงเบ้ง” เสียชีวิต ก็แทบไม่มีสงครามระหว่างก๊ก แต่ละก๊กมุ่งไปที่การบริหารจัดการภายใน ซึ่งจากผลงานของ “สุมาอี้” ก็ทำให้เขามีความดีความชอบเป็นอย่างมาก ได้รับการเลื่อนตำแหน่งจนมีอำนาจบารมีเป็นอย่างสูงทั้งในฝั่งของทหารและพลเรือน

ต่อมาเมื่อ “โจยอย” เสียชีวิต “โจฮอง” บุตรบุญธรรม ก็ขึ้นครองแผ่นดิน โดยในเวลานั้น “สุมาอี้” กับ “โจซอง” หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการ มีอำนาจบารมีสูสีกัน แต่ “โจซอง” ได้เปรียบจากการเป็นเชื้อพระวงศ์ (แซ่โจ) โดยใช้แต้มต่อดังกล่าวริดรอนอำนาจของ “สุมาอี้”

และเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและครอบครัว “สุมาอี้” จึงตัดสินใจลาออกจากราชการ อ้างว่าป่วย ขอกลับไปรักษาตัวที่บ้าน โดยบุตรทั้งสองคือ “สุมาสู” กับ “สุมาเจียว” ก็ลาออกตามไปด้วย โดยอ้างว่า เพื่อไปดูแลพ่อ  

แต่ถึงแม้จะกำจัด “ตระกูลสุมา” จนพ้นเส้นทางแห่งอำนาจไปแล้ว “โจซอง” ก็ยังไม่ไว้วางใจ ยังคงส่งคนไปเฝ้าติดตามดูความเป็นอยู่ของ “สุมาอี้” ดังนั้นเพื่อให้ “โจซอง” ตายใจ นอกจากแกล้งป่วยหนักแล้ว เขายังแสร้งเสียสติอีกด้วย โดยเขาต้องอดทนอยู่ในสภาพคนป่วยเสียสติเป็นเวลาร่วม 10 ปี กว่าจะทำให้ “โจซอง” หลงเชื่อ

แต่นั่นก็เป็นภาพเบื้องหน้าที่ “สุมาอี้” ต้องการให้ “โจซอง” เห็น ส่วนฉากหลังเขากับบุตรชายทั้งสองได้ซ่องสุมกำลังพลและวางแผนรวมกับขุนนางจำนวนหนึ่งเพื่อรอวันเผด็จศึก

และแล้ววันนั้นก็มาถึง เมื่อ “โจซอง” นำ “โจฮอง” ไปปฏิบัติภารกิจนอกวัง “สุมาอี้” กับพวกก็ก่อการปฏิวัติยึดอำนาจ “โจซอง” ทำให้ “ตระกูลสุมา” กลับคืนสู่เส้นทางของอำนาจอีกครั้ง

โดยครั้งนี้ “สุมาอี้” มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเป็นการวางรากฐานที่สำคัญในการสืบทอดอำนาจของ “ตระกูลสุมา” ทั้งในการสยบ “จ๊กก๊ก” กับ “ง่อก๊ก” และโค่นล้มราชวงศ์โจ (วุยก๊ก) ก่อนที่ “สุมาเอี้ยน” หลานของเขาจะขึ้นเป็นฮ่องเต้ รวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ  

 

Reference

วรรณกรรมสามก๊ก