ช่วงหน้าฝน ฝนตกแบบนี้ ทำมาหากินอะไรกันได้บ้าง วันนี้มีอีกหนึ่งช่องทาง ไปที่จังหวัดนครนายก ช่วงหน้าฝนแบบนี้ ชาวบ้านตำบลสาริกา อำเภอเมือง เข้าเข้าป่าตอนกลางคืน ไปเก็บหอยหอมบนภูเขาขาย

ที่บ้านคลองมะเดื่อ ตำบลสาริกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก นายเดช ปทุมมา วัย 63 ปี และนางอุดม จอดทอง วัย 57 ปี สองสามีภรรยาที่มีอาชีพเสริมเก็บหอยหอมบนภูเขาขายในช่วงฤดูฝน วันนี้เป็นจังหวะดีที่มีฝนตกในพื้นที่ ทำให้หอยหอมที่หลบซ้อนตัวตามพื้นดินและเศษใบไม้ใบหญ้าออกมาให้เราได้จับกัน

โดยผู้เก็บต้องสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และสวมรองเท้าบูทเพื่อสะดวกและป้องกันอันตรายจากกิ่งไม้บนภูเขา จากนั้นก็หยิบถุงตาข่ายและกระสอบที่ดัดแปลงเป็นถุงสะพายข้าง ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปยังแหล่งอาศัยของหอยหอม ที่อยู่บริเวณเนินเขาที่ห่างจากบ้านไปกว่า 2 กิโลเมตร หากันตั้งแต่เวลา1 ทุ่ม ไปจนถึง 4 ทุ่ม

นายเดช ปทุมมา บอกว่า หอยหอมจะตัวใหญ่กว่าหอบทาก หอยหอมจะมีหนวดออกมาไม่มาก มีลำตัวสีดำลาย ลักษณะของหอยหอมนั้นจะมีฝาปิด ซึ่งต่างจากหอยทากที่ไม่มีฝาปิด เมื่อนำหอยหอมมาประกอบอาหารเมื่อหอยสุกฝาที่ถูกปิดจะเปิดออก หอยหอมตัวเมียจะมีลักษณะตัวออกดำคล้ำ ส่วนตัวผู้จะมีสีออกขาว ซึ่งหอยหอมจะอาศัยอยู่บริเวณใต้ใบไม้ เศษหญ้า หลืบหิน โดยแต่ละปีจะสามารถออกหาหอยหอมได้ในช่วงฤดูฝนเท่านั้น

สำหรับอุปสรรคในการออกหาหอยหอมนั้น ต้องเสี่ยงกับสัตว์ป่าเช่นงู หรือสัตว์ใหญ่ เนื่องจากต้องออกหาหอยในช่วงเวลากลางคืน โดยในแต่ละคืนจะสามารถหาหอยได้ปริมาณที่มา 2-6 กิโลกรัม ซึ่งการออกหาหอยหอมนั้นเป็นการสร้างรายได้ที่ดีมากให้กับครอบครัว โดยมีลูกค้าคือคนในชุมชน และนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมาเลือกซื้อจนกลายเป็นขาประจำที่จะแวะเวียนมาซื้อในช่วงฤดูฝน

โดยหอยหอมส่วนมากจะถูกนำไปประกอบอาหารประเภทย่าง ลวก จิ้มน้ำพริก โดยมีราคาขายอยู่ที่ราคาตั้งแต่ 80 -150 บาท โดยส่วนตัวขายได้ราคากิโลกรัมละ 130 บาท เท่านั้น วิธีการปรุงอาหารจากหอยหอม เมื่อเก็บมาได้จะนำมาขังไว้ประมาณ 2-3 วัน โดยจะขูดมะพร้าวแก่ขนาดพอคั้นน้ำกะทิให้หอยกิน ที่ทำอย่างนี้ก็เพื่อที่จะให้หอยขับถ่ายเอาสิ่งสกปรกออกให้หมด และจะได้มีความมันเพื่อนำไปประกอบอาหาร หอยหอมนี้นอกจากจะมีรสชาติดีแล้วยังมีกลิ่นหอมอีกด้วย

'หอยหอม' (cyclophorid snails) นั้นถือได้ว่าเป็นตัววัดความสมบูรณ์ป่าเขา เป็นหอยทากบกกลุ่มที่มีฝาปิดเปลือก อาศัยอยู่บนพื้นดินที่ชื้นตามแนวเทือกเขาหรือที่ราบสูง โดยเฉพาะภูเขาหินปูน บางแห่งจึงเรียกหอยชนิดนี้ว่า หอยภูเขา ส่วนชื่อหอยหอมนั้น มีที่มาจากมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์เมื่อนำมาประกอบอาหาร เช่น ย่าง เผา หรือต้ม ในฤดูฝนมักพบหอยหอมเดินบนเศษซากใบไม้ ในช่วงที่อากาศแห้งแล้งหอยหอมจะจำศีลหลบอยู่ในรูหรือโพรง

ชาวบ้านหาหอยหอมขายในช่วงฤดูฝน ที่นครนายก (มีคลิป)