เรียนรู้วิชาความสำเร็จจากชีวิตของ "อีลอน มัสก์" มหาเศรษฐีอัจฉริยะ จากกรณีศึกษาการปลุกปั้น "เทสลา" รถไฟฟ้าพลิกโลก

หากการทำความเข้าใจแนวทางความสำเร็จที่ดีที่สุด ก็คือการเรียนรู้จากบุคคลที่ประสบความสำเร็จ ชีวิต ความคิด และการทำงานของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ก็ถือได้ว่าเป็นบทเรียนในระดับล้ำค่า ที่มีแง่มุมมากมายให้ค้นหาและศึกษาเรียนรู้

โดย “สูตรสำเร็จ” ขอโฟกัสไปยังเรื่องการปลุกปั้นบริษัทรถไฟฟ้า เทสลา (Tesla)  ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่เคยทำให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกมาแล้ว แต่มันยังเปลี่ยนโลกใบนี้… ให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

 

1. “อีลอน มัสก์” ชายที่เคยถูกดูแคลนว่า ไม่อาจทำให้ “เทสลา” แจ้งเกิดได้

แม้ในวันนี้ ถ้าพูดถึงความสำเร็จในระดับโคตรๆ ภาพของ อีลอน มัสก์ จะผุดขึ้นมาในหัวของหลายคน แต่อันที่จริง เขาก็เคยประสบกับความล้มเหลวมาแล้วมากมายหลายครั้ง แต่เขาไม่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่น่าอายหรือเลวร้าย ตรงกันข้าม เขากลับมองเห็นคุณค่าของมันด้วยซ้ำ ดังที่เขาเคยกล่าวว่า “ถ้าคุณไม่เคยล้มเหลว นั่นอาจแปลว่า คุณยังไม่เคยริเริ่มสร้างสิ่งใหม่ๆ”

ซึ่งก่อนที่ อีลอน มัสก์ จะเข้ามาในธุรกิจรถไฟฟ้า ก็ไม่มีใครเชื่อว่าเขาจะทำได้สำเร็จ เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี เงินทุน แต่ยังมี “การเมืองโลก” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งถ้า “รถไฟฟ้า” กลายเป็นยานพาหนะหลักเมื่อใด ก็อาจจะส่งผลกระทบกับกลุ่มขั้วอำนาจด้านพลังงาน ที่มีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกมาอย่างยาวนาน

ดังนั้นโอกาสที่ “รถไฟฟ้า” จะประสบความสำเร็จเป็นยานพาหนะหลักบนถนน ในมุมมองของกูรูหลายรายเมื่อเกือบยี่สิบที่แล้ว ก็แทบไม่มีทางเป็นไปได้เลย

 

 

2. "อีลอน มัสก์" เป็นซีอีโอ "เทสลา" ได้อย่างไร ?

ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว หลังจาก อีลอน มัสก์ ได้เงินก้อนโตจากการขาย เพย์พาล (PayPal) ให้กับ อีเบย์ (eBay) เขาก็มองหาธุรกิจที่น่าสนใจ ที่มีเงื่อนไขว่า ต้องมีแนวโน้มที่จะยิ่งใหญ่ในระดับสามารถเปลี่ยนโลกได้ ดังนั้นเมื่อ “ผู้ก่อตั้งเทสลา” มาเชื้อเชิญให้เขาเข้ามาเป็นผู้ร่วมลงทุน อีลอน มัสก์ จึงตอบตกลงในทันที

และ อีลอน มัสก์ ก็เพิ่มสถานะด้วยการเพิ่มทุน จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด แล้วก็บีบ มาร์ติน อีเบอร์ฮาร์ด (Martin Eberhard) และ มาร์ค ทาร์เพนนิง (Marc Tarpenning) สองผู้ก่อตั้งให้พ้นทาง ก่อนตัวเองขึ้นเป็นซีอีโอที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหาร เทสลา

 

 

3. Elon Musk ฝ่าวิกฤตเกือบล้มละลาย ก่อนแจ้งเกิดเทสลาได้สำเร็จ

การปลุกปั้น เทสลา กว่าจะเห็นแนวโน้มที่ดีกระทั่งแจ้งเกิดได้ ก็ต้องใช้เวลาหลายปี โดยช่วงแรกก็เป็นไปอย่างยากลำบาก จนเกือบล้มละลาย เมื่อ เทสลา โรดสเตอร์ (Tesla Roadster) รถไฟฟ้าสปอร์ตสุดหรูรุ่นแรกของบริษัท เปิดตัวได้ไม่ดีนะ มียอดสั่งจองต่ำกว่าเป้า

แต่ อีลอน มัสก์ ก็พยายามดิ้นรนทุกหนทาง โดยเข้าไปเจรจากับ ไดม์เลอร์ (Daimler) กับ โตโยต้า (Toyota) เพื่อเสนอขายหุ้นจำนวนหนึ่ง แล้วก็นำเงินก้อนนั้นมาประคับประคองบริษัทจนรอดพ้นวิกฤตได้ในที่สุด ก่อนจะประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับรถไฟฟ้า เทสลา โมเดล S (Model S)

โดยจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่พิสูจน์ให้เห็นถึงชัยชนะของ เทสลา ในตลาดโลก นั่นก็คือ เทสลา โมเดล 3 (Tesla Model 3) รถไฟฟ้าเจาะกลุ่มแมส ที่เปิดตัวในปี 2559 (ค.ศ.2017) ที่ได้สร้างปรากฏการณ์กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มียอดสั่งจองสูงที่สุดในโลก ทำลายสถิติ ไอโฟน (iPone) ด้วยยอดสั่งจองกว่า 300,000 คัน

ซึ่งจากความสำเร็จของ เทสลา โมเดล 3 ทำให้บริษัทรถยนต์หลายแห่งปรับโหมดเข้าสู่การผลิตรถไฟฟ้าอย่างจริงจังนับจากนั้นมา เพราะ อีลอน มัสก์ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า นับจากนี้โลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

 

4. แผนบันได 3 ขั้น กลยุทธ์ที่ทำให้ Elon Musk ชนะศึกรถไฟฟ้า

อีลอน มัสก์ เคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งเกี่ยวกับความสำเร็จของ เทสลา ก็เนื่องมาจากกลยุทธ์บันได 3 ขั้น ที่เขาวางไว้ตั้งแต่ต้น และพยายามดำเนินการตามแผนไม่ออกนอกลู่นอกทาง แม้ในช่วงที่ถูกสถานการณ์บีบบังคับก็ตามที แม้จะรู้ดีว่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสิบปี กว่าจะยืนหยัดได้อย่างมั่นคง แต่ด้วยสิ่งที่ทำ มันคือธุรกิจที่เปลี่ยนโลก ทำให้เขาต่อสู้อย่างอดทน จนประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

โดยยุทธศาสตร์บันได 3 ขั้นของเขา มีดังต่อไปนี้

ขั้นที่ 1 การผลิตรถไฟฟ้าสุดหรู เพื่อเจาะตลาดระดับพรีเมี่ยม ดังนั้นเมื่อ อีเบอร์ฮาร์ด กับ ทาร์เพนนิง มาเสนอโปรเจกต์ เทสลา ที่กำลังผลิต เทสลา โรดสเตอร์ รถสปอร์ตไฟฟ้าสุดหรู อีลอน มัสก์ จึงไม่ปฏิเสธโอกาสดังกล่าว

ขั้นที่ 2 การผลิตรถไฟฟ้ากึ่งหรู เพื่อเจาะตลาดระดับกลาง นั่นก็คือ เทสลา โมเดล S

ขั้นที่ 3 ผลิตรถไฟฟ้าราคาค่อนข้างถูก เพื่อเจาะตลาดรถระดับแมส นั่นก็คือ เทสลา โมเดล 3

แต่หลายคนก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ในเมื่อเขารู้อยู่แล้วว่า ขั้นที่ 3 นั่นก็คือจุดแตกหักของชัยชนะ แล้วทำไม อีลอน มัสก์ ไม่รีบผลิตรถไฟฟ้าราคาถูกตั้งแต่เนิ่นๆ ?

ซึ่งเหตุผลของ อีลอน มัสก์ ก็คือ เขาต้องการสะสมเงินทุนและเทคโนโลยี โดยต้นทุนที่สำคัญที่สุดของรถไฟฟ้า ก็คือ แบตเตอรี่ ที่มีราคาสูงมาก ดังนั้นนอกจากผลิตรถไฟฟ้าแล้ว อีกขาหนึ่งในธุรกิจของ เทสลา ก็คือการสร้าง Gigafactory โรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่หลายแห่ง ที่กลายเป็นหมากเด็ดทำให้ เทสลา เจาะตลาดแมสได้สำเร็จ

 

 

5. ถอดบทเรียนความสำเร็จของ “อีลอน มัสก์” จากกรณีศึกษา “เทสลา”

(1) อย่ากลัวความล้มเหลว

ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ อย่าง อีลอน มัสก์ เองก็บาดเจ็บมาหลายครั้ง แต่ด้วยเลือดนักสู้ที่ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ ทำให้เขาสามารถสร้างความสำเร็จได้ในระดับโคตรปรากฏการณ์

(2) ต้องมีเป้าหมายและแผนดำเนินงานที่ชัดเจน

ดังแผนบันได 3 ขั้นของ เทสลา ที่มียุทธศาสตร์อย่างชัดเจน และถึงแม้จะถูกสถานการณ์บีบคั้น แต่ อีลอน มัสก์ ก็ยังคงยึดมั่นในยุทธศาสตร์ ไม่มีการลัดขั้นตอนแต่อย่างใด

(3) เปลี่ยน “คำดูถูกดูแคลน” เป็นพลัง ผลักดันไปสู่เป้าหมาย

ในข้อนี้ต้องขอเท้าความไปยังปูมหลังของ อีลอน มัสก์ สักหน่อย ซึ่งด้วยความที่เขามีปมวัยเด็กที่เจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ดีกับผู้เป็นพ่อ มีปม Oedipus (เกลียดพ่อ) และถูกบูลลี่กลั่นแกล้งจากเพื่อนในโรงเรียนอย่างหนัก จนถึงขั้นบาดเจ็บสาหัสต้องเข้าไปนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลหลายสัปดาห์ จึงส่งผลทำให้ อีลอน มัสก์ มีบุคลิกซับซ้อน กระหายชัยชนะ เพื่อชดเชยความรู้สึกพ่ายแพ้ของการตกเป็น “ผู้ถูกกระทำ” ในวัยเด็ก

จากปมดังกล่าว มันจึงทำให้เขากลายเป็นคนกล้าสู้กล้าชน เพราะได้เรียนรู้แล้วว่า การยอมจำนนไม่ได้ยุติปัญหา แต่มันยิ่งทำให้ถูกกระทำหนักขึ้นไปอีก

คำดูถูกดูแคลนต่างๆ ในช่วงต้นๆ ที่เขาเข้ามาบริหาร เทสลา จึงถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นขุมพลังงานในการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ตนเอง   

แต่ในอีกมุม อีลอน มัสก์ ก็ขึ้นชื่อในเรื่องด้านมืดที่มีความอำมหิตเลือดเย็น โดยเฉพาะกับคนใกล้ตัว ซึ่งตรงนี้ก็ไม่แน่ใจว่า เป็นผลข้างเคียงจากปมในวัยเด็กด้วยหรือไม่

สรุปแล้วก็คือ ตัวตนของ อีลอน มัสก์ มีหลากหลายแง่มุมให้เรียนรู้ ซึ่งส่วนใหญ่น่านำเอาเป็นแบบอย่าง แต่ในบางแง่มุมแค่ศึกษาทำความเข้าใจ… เท่านั้นก็พอ   

 

Reference

Tesla จากเกือบล้มละลาย กลายเป็นบริษัทรถ มูลค่าสูงที่สุดในโลก ได้อย่างไร ?

Better Place สตาร์ต-อัพ ที่เกือบพลิกโลก ด้วยโมเดลธุรกิจพลังงานรถยนต์ไฟฟ้า

‘อีลอน มัสก์’ Iron Man แห่งวงการธุรกิจ พลิกโลกด้วยรถยนต์ไฟฟ้า Tesla