เรื่องราวของ Cadbury บริษัทช็อกโกแลตที่มีอายุ 200 ปี ที่ใช้กลยุทธ์ทางการตลาด ทำให้ช็อกโกแลตกลายเป็นของขวัญวันวาเลนไทน์มาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากดอกไม้แล้ว “ช็อกโกแลต” ก็ถือได้ว่าเป็นของขวัญสุดฮิตใน “เทศกาลวาเลนไทน์” แต่สิ่งที่หลายคนสงสัยก็คือ “ช็อกโกแลต” เข้ามาเกี่ยวข้องกับ “วันวาเลนไทน์” ได้อย่างไร และทำไม “ขนมหวาน” ชนิดนี้จึงกลายเป็นของขวัญวันแห่งความรักมาได้อย่างยาวนาน

 

ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายตำนานเล่าขานที่ได้ผูกโยง “ช็อกโกแลต” เข้ากับ “วันวาเลนไทน์” แต่หากพิจารณาจากหลักฐานอ้างอิงที่น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด ก็ต้องยกเครดิตให้กับ Cadbury บริษัทช็อกโกแลตเก่าแก่ของประเทศอังกฤษ

 

แล้ว Cadbury ทำให้ “ช็อกโกแลต” กลายเป็นของขวัญสุดฮิตในวันวาเลนไทน์ ได้อย่างไร “สูตรสำเร็จ” ขอเล่าสู่กัน ดังต่อไปนี้

 

 

“ช็อกโกแลต” เครื่องดื่มศักดิ์สิทธิ์ในอารยธรรมโบราณ  

 

ย้อนไปเมื่อเกือบ 2,000 ก่อนคริสตกาล ชนเผ่าโอลเมค (Olmecs) ในอเมริกาใต้ ได้นำผล คาเคา (Cacao) มาทำเป็นเครื่องดื่ม ที่มีสรรพคุณดื่มแล้วสดชื่น กระปรี้กระเปร่า อารมณ์ดี และได้รับการยกย่องให้เครื่องดื่มศักดิ์สิทธิ์ของอารยธรรมลาตินอเมริกาโบราณมาอย่างยาวนาน

 

กระทั่งในศตวรรษที่ 15 เมื่อมีการค้นพบดินแดนลาตินอเมริกา ชาวยุโรปที่มีโอกาสได้ชิมเครื่องดื่มดังกล่าวจากชนเผ่าพื้นเมือง ก็รู้สึกประทับใจ ก่อนนำไปเผยแพร่ในดินแดนบ้านเกิด โดยได้มีการผสมน้ำตาล และวัตถุดิบอื่นๆ ทำให้ได้รสชาติที่กลมกล่อมถูกปาก และกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของชนชั้นสูงยุโรปในเวลาต่อมา

 

ช็อกโกแลต จากเครื่องดื่ม สู่ขนมหวาน  

 

กระทั่งในศตวรรษที่ 19 ก็ได้มีร้านขายเครื่องดื่มช็อกโกแลตเกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ Cadbury ที่ก่อตั้งโดย John Cadbury ในปี ค.ศ.1824

 

โดยจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่เปรียบเสมือนการปฏิวัติอุตสาหกรรมช็อกโกแลตก็คือ “ช็อกโกแลตแท่ง” ที่บริษัท J. S. Fry & Sons ได้ผลิตมาออกมาจำหน่ายเป็นรายแรกในปี ค.ศ. 1847 ทำให้ “ช็อกโกแลตแท่ง” กลายเป็นขนมหวานยอดนิยมตั้งแต่นั้นมา

 

หลังจากนั้นบริษัทต่างๆ ก็ผลิต “ช็อกโกแลตแท่ง” ออกมาอย่างแพร่หลาย รวมถึง Cadbury ก็เข้าสู้ศึก “ช็อกโกแลตแท่ง” อย่างดุเดือด ประกอบกับรัฐบาลอังกฤษได้ประกาศลดภาษีการนำเข้า “ช็อกโกแลต” จึงราคาถูกลง คนทั่วไปสามารถซื้อหาได้ ทำให้ความนิยมที่มีต่อ “ช็อกโกแลต” พุ่งกระฉูดยิ่งขึ้นไปอีก

 

 

ช็อกโกแลต กลายเป็นของขวัญวันวาเลนไทน์ ได้อย่างไร

 

ต่อมาในปี ค.ศ.1861 Richard และ George Cadbury ทายาทรุ่นที่ 2 ของ Cadbury ได้รับช่วงสืบทอดกิจการ ก็พยายามผลักดันให้ Cadbury ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจช็อกโกแลตให้จงได้

 

โดยทั้งสองได้ทดลองนำ “ช็อกโกแลตแท่ง” ใส่กล่องที่มีการดีไซน์สวยงาม วางขายในช่วงเทศกาลต่างๆ แล้วก็ได้รับการตอบรับที่ดี

 

กระทั่งต่อมาได้นำช็อกโกแลตแท่งบรรจุในกล่องรูปทรงหัวใจ และมีการประดับดอกไม้และคิวปิดบนกล่องอย่างสวยงาม จำเพาะเจาะจงวางขายในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์เท่านั้น แล้วก็ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ด้วยบรรดาหนุ่มสาวนิยมซื้อหานำไปเป็นของขวัญของฝากให้กับคนรักจนกลายเป็นกระแสสุดฮิตอินเทรนด์ในช่วงเวลานั้น

 

หลังจาก Cadbury ประสบความสำเร็จจากไอเดียทางการตลาดที่ชาญฉลาดดังกล่าว บริษัทอื่นๆ ก็ดำเนินรอยตาม และขายดิบขายดีกันถ้วนหน้า นานวันเข้าวัฒนธรรมการให้ “ช็อกโกแลต” เป็นของขวัญในวันวาเลนไทน์ ก็แพร่หลายไปในหลายๆ ประเทศ

 

ปี ค.ศ.2024 ครบรอบ 200 ปี Cadbury

 

แม้ Cadbury กับ S. Fry & Sons จะแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งชิงความเป็นเจ้าแห่งช็อกโกแลต แต่ต่อมาในปี ค.ศ.1919 ทั้งสองบริษัทก็ควบรวมกิจการกัน และได้กลายเป็นบริษัทในเครือ Mondelez International (Kraft Foods) ในปี ค.ศ.2010 จนถึงปัจจุบัน

 

Reference

Cadbury

How Chocolate Became a Valentine’s Day Staple

สรุปมหากาพย์ ช็อกโกแลต Cadbury จุดเริ่มต้น การให้ช็อกโกแลตวันวาเลนไทน์

แนวคิดสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล ของธุรกิจครอบครัว Cadbury ที่ทำมานานกว่าร้อยปี

ประวัติศาสตร์ ‘รสขม’ ของช็อกโกแลตยุคล่าอาณานิคม