รัฐบาล ย้ำการปรับลดราคาน้ำมันเป็นมาตรการชดเชยจากภาครัฐ ผู้ประกอบการไม่อาจอ้างปฏิเสธการจำหน่ายได้ หากพบความผิดมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อกรณีที่มีการร้องเรียนการกักตุนสินค้าน้ำมัน ทำให้สินค้าน้ำมันหมดในหลายสถานีเติมน้ำมันทั่วประเทศ นั้น กระทรวงพลังงานไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้ประชาชนผู้ใช้น้ำมันได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย

รองโฆษกฯ รัดเกล้าฯ กล่าวว่า ภายหลังรัฐบาล โดยกระทรวงพลังงานออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน โดยใช้กลไกการลดภาษีสรรพสามิตและกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันอย่างมีนัยยะสำคัญ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าอาจมีพฤติกรรมการกักตุนน้ำมัน ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการตรวจสอบสถานีบริการน้ำมันหลายแห่งว่า ภายหลังราคาน้ำมันปรับตัวลงทำให้มีผู้ใช้รถยนต์จำนวนมากเข้ามาใช้บริการ จนทำน้ำมันหมดจริง อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงานยืนยันว่า การปรับลดราคาน้ำมันเป็นมาตรการช่วยเหลือ และชดเชยจากภาครัฐ ไม่ได้กระทบกำไรในส่วนผู้ประกอบการ จึงไม่อาจอ้างปฏิเสธการจำหน่ายได้

“ปริมาณการใช้น้ำมันช่วงก่อนหน้าที่จะมีการลดราคาน้ำมัน โดยเฉพาะในช่วงระหว่างวันที่ 4 – 6 พฤศจิกายน 2566 ตัวเลขเบื้องต้น มีการใช้น้ำมันลดลงกว่า 60% ซึ่งปกติน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 จะมีการใช้ประมาณวันละ 17 ล้านลิตร ก็เหลือเพียงประมาณวันละ 7 ล้านลิตร ส่วนน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลงจากวันละ 6 ล้านลิตร เหลือวันละประมาณ 2 ล้านลิตร รวมทั้ง E20 และ E85 ก็มีปริมาณลดลงเช่นกัน อาจจะเป็นเพราะประชาชนได้รับทราบข่าวสารล่วงหน้าในนโยบายการลดราคาน้ำมันเบนซิน ของกระทรวงพลังงาน จึงชะลอการใช้บริการนอกจากนั้น ก็มีการเปลี่ยนการเติมชนิดน้ำมันจากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มาเป็น 91 ทำให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน” รองโฆษกฯ รัดเกล้าฯ

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งข้อสงสัย พร้อมรายละเอียดชื่อสถานีบริการ และสถานที่ตั้ง กับกรมธุรกิจพลังงาน หรือกองตรวจราชการ กระทรวงพลังงาน เพื่อประสานกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ หากผู้ประกอบการปฏิเสธการจำหน่ายในขณะที่น้ำมันยังมี จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ