"อดีต รมช.คลัง" ค้านแจกเงินหมื่น ชี้หลายประเทศไม่ใช้ หวั่นมีเงินดิจิทัลปลอม อัดเบียดบังเงินคงคลัง ผลาญเงินออมสินโดยใช่เหตุ แนะเจาะกลุ่มช่วยคนจนไม่ต้องแจกเศรษฐี

วันที่ 18 ต.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายเงินดิจิทัลวอเลต 10,000 บาทของรัฐบาล ที่จะแจกให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปว่า ตนเองรู้สึกเสียดายต่องบประมาณดังกล่าว ที่จะต้องใช้กว่า 560,000 ล้านบาท เพราะหากนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ยากจน 10 ล้านคน หรือประมาณ 100,000 ล้านบาทตนก็พอรับได้ แต่หากจะนำไปแจกให้กับประชาชน ทั้งที่มีฐานะร่ำรวย หรือชนชั้นกลางด้วย จะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำโดยใช่เหตุ เพราะรัฐบาลสามารถนำเงินดังกล่าวไปทำประโยชน์ให้กับประเทศ สร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้มากมาย เช่น การสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ด้วยงบประมาณเพียง 400,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น และตนเองก็เห็นด้วยกับนักวิชาการที่ออกมาคัดค้านว่า เป็นการใช้เงินที่ไม่เหมาะสม

นายพิสิฐ ยังแสดงความกังวลต่อการชดเชยทางการคลังต่อนโยบายดังกล่าว ที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังทั้ง 2 คน จะนำรายได้การจัดเก็บภาษีของรัฐบาลที่สูงกว่าเป้าหมายมาใช้นั้น ในทางปฏิบัติงบประมาณที่รัฐบาลสามารถจัดเก็บได้เกินเป้านั้น ได้เป็นเงินคงคลังของประเทศแล้ว ดังนั้น หากรัฐบาลจะใช้เงินดังกล่าว ก็จะเป็นการเบียดบังคงคลังของประเทศ หรือจะใช้เงินจากธนาคารออมสินมาใช้นั้น เงินดังกล่าว ก็เป็นเงินของเด็กนักเรียน ที่มีการส่งเสริมให้ประชาชนออมเงิน แต่รัฐบาลกลับเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี นำเงินไปแจกเพื่อการบริโภค จึงเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกัน นำเงินออมมาผลาญ สร้างหนี้สาธารณะ ที่อนาคตประชาชนจะต้องจ่ายภาษีคืนรัฐบาล ดังนั้น แนวทางการชดเชยทางการการดุลของรัฐบาล จึงยังไม่ชัดเจน และไม่เชื่อที่รัฐบาล ตั้งเป้าจะขาดดุลไม่เกินราว 690,000-700,000 ล้านบาท เพราะไม่เชื่อว่า งบประมาณ 560,000 ล้านบาทที่รัฐบาลจะนำมาแจกประชาชน จะเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณปี 2567 เพราะไม่สามารถตัดงบรายจ่าย เพื่อมาใช้กับนโยบายนี้ได้ เนื่องจากเงินดังกล่าว จะต้องมีที่มา เพื่อชดเชยการขาดดุลของประเทศด้วย ส่วนงบประมาณนอกงบประมาณ ก็มีการใช้กับการลงทุน เพื่อประโยชน์ต่อการเงินของประเทศ หากนำมาใช้ผลาญเล่น ก็จะกระทบต่อระบบการเงินของประเทศ ดังนั้น จึงไม่เชื่อว่ารัฐบาล จะกล้าเสี่ยงนำอนาคตของตนเองมาทำนโยบายดังกล่าว เพราะองค์กรอิสระหลายองค์กร ได้ตั้งกรรมการเตรียมตรวจสอบนโยบายดังกล่าวแล้ว

นายพิสิฐ ยังกล่าวอีกว่า ยังไม่มีรัฐบาลในประเทศใด ใช้เงินดิจิทัล หรือแม้แต่ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา ก็ยังประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวกับเงินริโตคอรนซี่ทั้งสิ้น เนื่องจาก มีความไม่โปร่งใส มีการโกงได้ จึงยังเป็นข้อกังขาที่รัฐบาล จะนำรูปแบบดังกล่าวมาใช้ รวมถึงพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า การออกเงินตรา เป็นอำนาจหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่รัฐมนตรีฯ ก็จะต้องมีเหตุมีผลในการอนุญาตออกรูปแบบเงินตรา เพราะหากมีการจัดทำเงินดิจิทัลปลอมขึ้นมา ก็จะต้องมีผู้รับผิดชอบ จึงขอให้นักกฎหมายไปพิจารณาให้ดี และเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ก็จะไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว

ทั้งนี้ หากรัฐบาลยืนยันจะคงเดินหน้านโยบายดังกล่าว จะเป็นการซ้ำรอยนโยบายรับจำนำข้าวหรือไม่ เนื่องจาก มีนักวิชาการ และนักการเมืองออกมาเตือนจะเป็นหายนะทางการเงินของประเทศนั้น นายพิสิฐ ระบุว่า หุ้นที่ตกลงมา ก็สะท้อนความรู้สึกของนักลงทุนแล้ว จึงไม่มั่นใจว่า รัฐบาลได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวรอบคอบแล้วหรือไม่ และตนเองก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ 100% แต่เห็นด้วยกับการช่วยเหลือคนจน ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องแจกเงินให้กับประชาชนทุกคน และการดูแลคนจน ก็สามารถแบ่งสัดส่วนได้ เช่น 10 ล้านคน เป็นต้น