รัฐบาลเตรียมส่ง แอร์บัส 340 ของกองทัพอากาศ รับ 140 แรงงานไทยกลับประเทศ 15 ต.ค. นี้ เน้นอพยพคนจากพื้นที่เสี่ยงก่อน รอกองทัพอากาศส่งตารางการบินเพิ่ม ก่อนกำหนดวันอพยพครั้งต่อไป

วันที่ 10 ตุลาคม 2566 มีรายงานว่า นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงภายหลังผลการประชุมศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉิน ถึงสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศอิสราเอล ว่า ได้มีการพูดคุยเตรียมการอพยพ ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนประสงค์กลับประเทศไทยเพิ่มเป็น 3,863 คน และมี 52 คน ประสงค์จะไม่กลับ

ล่าสุด รัฐบาลและกองทัพอากาศ เตรียมส่งเครื่องบินของกองทัพอากาศ ชนิดแอร์บัส-340 ไปอพยพคนไทยกลับ โดยจะถึงกรุงเทลอาวีฟ ในวันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคมนี้ สามารถรองรับแรงงานที่จะกลับประเทศไทยได้ จำนวน 140 คน แต่จะยังไม่มีการรับร่างผู้เสียชีวิต เนื่องจากจะต้องรอทางการอิสราเอล พิสูจน์อัตลักษณ์ เพื่อการชดเชยเยียวยาก่อน

ขณะเดียวกัน กองทัพอากาศ ยังเตรียมเครื่องบิน C-130 จำนวน 5 ลำ เพื่อนำคนไทยกลับประเทศแล้ว และหลังจากนี้กองทัพอากาศ จะส่งตารางกำหนดเที่ยวบิน และจะประสานกับสถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงเทลอาวีฟ และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขออนุญาตบินข้ามน่านฟ้าประเทศต่าง ๆ ต่อไป โดยคาดหวังว่า จะสามารถดำเนินการให้ลุล่วงได้โดยเร็ว ซึ่งการดำเนินการอพยพ จะให้ความช่วยเหลือพลเมืองไทยในอิสราเอล ที่อยู่ในพื้นที่สีแดงก่อน โดยคำนึงถึงความจำเป็น และความปลอดภัยในการอพยพออกเป็นหลัก

ขณะที่ระยะเวลาบินมีการคำนวณ ว่า จะต้องจะต้องใช้ประมาณ 8 ถึง 12 ชั่วโมง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเส้นทางที่จะต้องใช้บินในภาวะสงคราม ต่างจากสถานการณ์ปกติ และยังไม่มีแผนอพยพทางเรือเนื่องจาก ทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ไม่แนะนำ เพราะท่าเรืออยู่ในพื้นที่ไม่ปลอดภัยและต้องผ่านเส้นทางอันตรายด้วย

สำหรับแรงงานไทยที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของอิสราเอล ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยนั้น หากใครประสงค์จะเดินทางกลับก็สามารถแจ้งความประสงค์ ผ่านการกรอกแบบฟอร์มได้เช่นกัน เพราะตอนนี้อยู่ในสถานการณ์พิเศษหรือภาวะสงคราม พร้อมทั้งขอให้คนไทยที่พำนักในอิสราเอล หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวปฏิบัติตามคำแนะนำขอทางการอิสราเอลอย่างเคร่งครัด

สำหรับคนไทยที่เดินทางกลับมาเอง อย่างเช่นกรณีที่มีแรงงานเดินทาง กลับมาถึงไทยในช่วงเช้านั้น เข้าใจว่า ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของแผนการอพยพ ซึ่งเป็นแรงงานที่หมดสัญญาจ้าง อาจจะมีช่องทางในการเดินทางกลับมาเอง ซึ่งส่วนนี้จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

แต่ยืนยันว่า สำหรับคนไทยที่อาศัยอยู่ในอิสราเอลทุกพื้นที่ตอนนี้ หากลงทะเบียนกับทางการของไทย ผ่านช่องทางต่าง ๆ รัฐบาลไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด เนื่องจากเป็นแนวทางปฏิบัติในภาวะสงครามฉุกเฉิน โดยจะใช้งบกลางเข้ามาดำเนินการในส่วนนี้

นอกจากนี้ศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยกระทรวงแรงงานได้มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือในจังหวัดต่าง ๆ ด้วยสายด่วน 1694 อำนวยความสะดวกให้ญาติประสานในการติดตามแรงงานไทยในอิสราเอล

ส่วนสาเหตุที่หลายประเทศทยอยเดินทางเข้าไปรับพลเมืองของตนกลับประเทศได้ก่อนประเทศไทยนั้น นางกาญจนา กล่าวว่า พลเมืองประเทศดังกล่าวส่วนใหญ่ ไม่ใช่แรงงาน แต่เป็นนักท่องเที่ยว และเป็นประเทศที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียง แต่รัฐบาลไทย ก็ได้พยายามประสานอิสราเอลมาโดยตลอด และจะต้องทำเรื่องไปยังประเทศต่างๆ เพื่อขอเวลาในการผ่านน่านฟ้าประเทศนั้น ๆ ด้วย