กรมควบคุมโรค เตือน ประชาชนป้องกันด่วน หลังพบไข้ฉี่หนูกำลังระบาดทั่วประเทศ ป่วยแล้ว 2,700 ราย เสียชีวิต 31 ราย ขณะที่โคราช ป่วย 91 ราย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและรับจ้าง คาด ระบาดเพิ่มหลังมีฝนตกติดกันหลายวัน

วันที่ 6 ตุลาคม 2566 มีรายงานว่า นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ได้ฝากเตือนไปยังพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร ว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนจะมีน้ำท่วมขังตามไร่ท้อง ต้องระมัดระวังโรคเลปโตสไปโรสิส หรือโรคฉี่หนูเป็นพิเศษ เพราะสภาพพื้นดินเปียกชื้นหรือมีน้ำท่วมขัง ทำให้เกิดโรคหน้าฝนที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเชื้อก่อโรคจะพบในปัสสาวะของหนูหรือสัตว์ฟันแทะ เป็นพาหะหลัก รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ เช่น สุนัข แมว โค แพะ แกะ ซึ่งเชื้อถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะที่ปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำขังและพื้นดินที่เปียกชื้น หากเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคฉี่หนูได้ง่าย เพราะเชื้อโรคนี้จะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยถลอก รอยขีดข่วน และเยื่อบุของปาก ตา จมูก และอาจติดต่อได้จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน



โดยสถานการณ์โรคเลปโตสไปโรซิสในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 24 กันยายน 2566 กรมควบคุมโรค รายงานว่า พบผู้ป่วยแล้ว 2,700 ราย และมีผู้เสียชีวิต 31 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้

ส่วนสถานการณ์โรคเลปโตสไปโรซิส พื้นที่ 4 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 23 กันยายน 2566 พบผู้ป่วยแล้ว 91 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วยมากสุด 36 ราย รองลงมา คือ จังหวัดนครราชสีมา พบผู้ป่วย 29 ราย, จังหวัดชัยภูมิ พบผู้ป่วย 17 ราย และจังหวัดบุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 9 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกร ถึงร้อยละ 57.14 รองลงมาคือ ทำอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 26.37 และเป็นผู้ป่วยเด็ก ร้อยละ 8.79 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มอายุที่พบป่วยสูงสุดคือกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55-64 ปี และอายุ 45-54 ปี



จึงขอเตือนประชาชนและพี่น้องเกษตรกรให้หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ท หรือถุงพลาสติกสะอาดทุกครั้ง หรือถ้าไม่ได้สวมรองเท้าบู๊ท เมื่อลุยน้ำเสร็จต้องรีบล้างมือล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำโดยเร็ว



ส่วนกรณีที่มีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้แผลสัมผัสน้ำโดยตรง ควบคุมและกำจัดหนูตามบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน รวมถึง สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ควรระบายน้ำตามท่อระบายออก แล้วล้างเพื่อกำจัดน้ำที่ปนเปื้อน ซึ่งหากมีอาการป่วยไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว จะปวดมากโดยเฉพาะที่น่องและโคนขา คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตาแดง เป็นต้น

ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อให้วินิจฉัยโรคและเข้ารับการรักษา เพราะหากล่าช้าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ไตวาย ตับวายเฉียบพลัน เลือดออกในปอด อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นสีดำ มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท ระบบหายใจล้มเหลว และอาจเสียชีวิตได้