สมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ คาดใช้เวลา 3 เดือน สำรวจอินดอร์ฯ หัวหมาก ก่อนซ่อม-เสริมโครงหลังคา

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย วิเคราะห์สาเหตุการพังถล่มของโครงหลังคาอินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก เบื้องต้นพบเกิดการรูดไถลของปลายลวดสลิงจากจุดยึดรั้ง คาดว่า จะใช้เวลาสำรวจและประเมินโครงสร้างภายใน 2-3 เดือน จากนั้นเป็นการซ่อมแซม และเสริมความแข็งแรงโครงหลังคา ต้องใช้เวลาอีก 3-6 เดือนขึ้นอยู่ระดับความรุนแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้น

จากเหตุการณ์พังถล่มของโครงสร้างหลังคาอาคารอินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย นำโดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมฯ นายชูเลิศ จิตเจือจุน อุปนายกสมาคมฯ และ นายวัฒนพงษ์ หิรัญมาลย์ เลขาธิการสมาคมฯ ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุร่วมกับ วิศวกรของการกีฬาแห่งประเทศไทย

 

 

จากการประเมินวิเคราะห์สาเหตุเบื้องต้นและการส่งโดรนขึ้นไปบินสำรวจสภาพด้านบนของโครงหลังคา พบว่า เป็นโครงเหล็กที่รองรับรางระบายน้ำพังถล่มลงมา 2 แนว ที่ระดับความสูงมาก ซึ่งจากการตรวจสอบระบบโครงสร้างในเบื้องต้นพบว่า เกิดการรูดไถลของปลายลวดสลิงจากจุดยึดรั้ง ทำให้คานเหล็กสูญเสียที่รองรับ จึงพังถล่มลงมา และสามารถวิเคราะห์ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการถล่มได้ 3 ปัจจัยได้แก่

1. ฝนที่ตกหนัก มีน้ำขังที่ผ้าใบ ทำให้เกิดน้ำหนักมาก และน้ำบางส่วนหนักเกินกว่าที่ผ้าใบจะรับไหว ทำให้มวลน้ำตกกระแทกบนรางน้ำ และทำให้ลวดสลิงที่รองรับโครงเหล็กรูดขาดออกจากจุดรองรับ

2.ระบบโครงสร้างที่ใช้ลวดสลิงขึงที่จุดรองรับ ผ่านลิ่มเหล็ก เมื่อลิ่มเหล็กเป็นสนิม ทำให้ลวดสลิงรูดออกมา จนสูญเสียกำลังรับน้ำหนักและร่วงลงมา

3.โครงสร้างที่ก่อสร้างมานาน 50 ปีขึ้นไป มีการเสื่อมสภาพ เช่น โครงไม้ที่ผุ หรือโครงเหล็กฉากที่เป็นสนิม ทำให้ไม่สามารถรับน้ำหนักได้

จากสภาพโครงสร้างอาคารที่มีลักษณะเป็นทรงกลมคล้ายโดม มีช่วงความยาวมาก และผ้าใบด้านบนยังขาดอีกหลายจุด ยังมีลักษณะคล้ายกันอีกหลายแนว ก็อาจจะเกิดถล่มเพิ่มเติมที่ตำแหน่งอื่นได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝนที่มีลมพายุรุนแรงในช่วงนี้

 

 

ดังนั้นในเบื้องต้น จึงควรปิดไม่ให้เข้าไปใช้งานภายในอาคารนี้ และควรรีบประเมินและแก้ไขซ่อมแซมโครงหลังคาเสียก่อน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า จะใช้ในการสำรวจและประเมินโครงสร้างภายในเวลาประมาณ 2--3 เดือน จากนั้นจะเป็นการซ่อมแซม และเสริมความแข็งแรงโครงหลังคา ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 3-6 เดือนขึ้นอยู่ระดับความรุนแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้น