นายกฯ เศรษฐา เปิดอาคาร SAT-1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชื่นชม ทักษิณ วิสัยทัศน์กว้างไกล วางโครงสร้างสนามบินสุวรรณภูมิได้ดี ช่วยประหยัดงบประมาณ ขยายต่อเติมได้รวดเร็ว รองรับนักท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่

วันที่ 29 กันยายน 2566 มีรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) แบบ Soft Opening ณ อาคาร SAT-1 ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ AOT และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ

นายกฯ กล่าวก่อนระหว่างเดินมาร่วมพิธีเปิดอาคาร SAT-1 ว่า ตอนเมื่อสนามบินสุวรรณภูมิหลายสิบปีที่แล้ว ในการก่อสร้างสนามบิน โชคดีที่เราสร้างอุโมงค์ไว้ก่อน ทำให้การต่อเติมเป็นไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งงบประมาณสมัยก่อนในการดำเนินการสร้างอุโมงค์ก็มีราคาถูก ตอนนี้ก็สามารถเชื่อมต่อกับ SAT-1 ได้ดี ทำได้เร็วและเป็นประโยชน์มาก ซึ่งสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ทำไว้ก่อน ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทำให้ตอนนี้ประหยัดงบประมาณได้มาก ซึ่งปัจจุบันถือว่าดีมาก และบังเอิญที่ประจวบเหมาะกับเวลาที่เราเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ผ่านการท่องเที่ยว ถือว่าการท่าฯ ทำไว้ดีมาก



ส่วนรถไฟฟ้า (APM) เชื่อมต่อจากสนามบิน แห่งที่ 1 มา SAT-1 ระยะทาง 1 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1.5 นาที ซึ่งเมื่อวันที่ 28 กันยายน ได้เปิดวันแรกทดสอบนักท่องเที่ยวแล้ว จากนั้นนายกฯ ได้เดินเยี่ยมชมนิทรรศการการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิตั้งแต่เริ่มต้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิด รู้สึกเป็นเกียรติและมีความความยินดีในการเปิดอาคาร SAT-1 วันนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการท่าอากาศยานไทยทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นหนึ่งในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น หรือที่ตนใช้บ่อยว่าควิกวิน (โยบายเร่งด่วน) ผ่านการกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง

การพัฒนาสนามบินเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวไม่เพียงแต่สร้างโอกาสให้กับเศรษฐกิจ และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวคือแหล่งรายได้ที่สำคัญและสามารถกระจายสู่ภาคประชาชนได้อย่างรวดเร็ว สามารถสร้างงานสร้างอาชีพและธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวมากมาย การเปิดให้บริการอาคาร SAT-1 จะเพิ่มขีดความสามารถให้กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการเปิดรันเวย์ในปี 2567

นอกจากนี้ ขอให้ดูการบริหารและการบริการในสนามบินไม่ให้ติดขัดเพียงพอกับการรองรับผู้โดยสารที่จะเข้ามาจำนวนมาก ตนขอฝากผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดดูตรงนี้ด้วย เพราะตนเชื่อว่าการพัฒนาดังกล่าวจะส่งเสริมศักยภาพการบินในภูมิภาคและจะเกิดประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ทั้งผู้ใช้บริการสายการบินและอุตสาหกรรมการผลิตตลอดจนรองรับการค้าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะยาว

หวังว่าทุกสิ่งที่รัฐบาลกำลังพยามพยามทำอยู่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้พัฒนาขึ้น และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การบินแห่งภูมิภาคในระยะเวลาอันใกล้ ทุกสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำจะช่วยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาคในระยะเวลาอันใกล้ และให้ความมั่นใจนักท่องเที่ยว ว่าตั้งแต่คราวแรกที่เข้ามาในประเทศประเทศไทยและการก้าวออกไปเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าและกลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวในทุกมิติและจะไม่หยุดยั้งการพัฒนาในส่วนนี้ จากนั้นนายกฯ ได้นำบัตรโดยสารจำลองวางบนเครื่องทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ

สำหรับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (อาคาร SAT-1) มีพื้นที่ใช้สอยภายในอาคาร 251,400 ตารางเมตร มีพื้นที่ลานจอดอากาศยานรวมกว่า 260,000 ตารางเมตร เป็นอาคารสูง 4 ชั้น มีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น เชื่อมต่อกับ Main Terminal ด้วยอุโมงค์ใต้ดินระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ทั้งขาออกและขาเข้าประเทศ ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี

จากนั้นนายกฯ ได้เดินทางต่อไปที่ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต เพื่อรับฟังภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน และรับฟังข้อสรุปเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ บริเวณแยกท่าเรือตำบลศรีสุนทร อ.ถลาง เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดและอำนวยความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางสู่เมืองภูเก็ต และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการจราจรและการขยายเส้นทางเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายกระทู้-ป่าตอง รวมถึงรับฟังข้อสรุปเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติอันดามันที่ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและพังงาครั้งนี้เป็นการติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ หลังจากที่เมื่อวันที่ 25 -26 สิงหาคม ที่ผ่านมา นายกฯ ได้ลงพื้นที่เร่งรัดการเตรียมความตามนโยบายเร่งด่วน (Quick win) โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วที่สุด