สนั่นโซเชียล ! #เงินเดือนราชการ ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 หลัง ครม.ปรับจ่าย 2 รอบ ชาวเน็ตถาม 15 วันที่เหลือใช้เงินไหนกินข้าว "สมชัย" ถามสร้างสรรค์หรือสร้างปัญหา "ศิริกัญญา" เชื่อ เงินช็อตแน่นอน

เรียกว่าแชร์กันสนั่นโซเชียล กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนัดแรกว่า จะเปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการจากเดือนละ 1 รอบ เป็น 2 รอบ เพื่อบรรเทาทุกข์ข้าราชการชั้นผู้น้อย และการจ่าย 2 รอบจะได้ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินคาดว่าเริ่มได้วันที่ 1 มกราคม 2567 นั้น ส่งผลให้ #เงินเดือนราชการ พุ่งติดเทรนด์ฮิตประเทศไทย เป็นอันดับ 1 ในไม่กี่ชั่วโมง โดยส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยที่จะแบ่งจ่ายเงินเดือนลักษณะนี้ เพราะกระทบกับการวางแผนจ่ายหนี้สิน เช่น

– "ต้องการเงินเดือน 25,000 ค่ะ ไม่ได้ต้องการจ่าย 2 รอบ ก่อนจะพูดออกมานี่ปรึกษาสหกรณ์, ไฟแนนซ์, กยศ. รึยังเอ่ย เขายอมให้หัก 2 รอบรึเปล่า"

– "เพราะคนคิดไม่เคยจน มีเงินเหลือเฟือที่จะทำอะไรก็ได้ ถึงได้คิดมาตรการที่ตื้นเขินเช่นนี้ สมมุติเงินเดือน 26,000 บาท จ่ายต้นเดือน 13,000 บาท แต่หนี้ก้อนโตทั้งบ้านและรถรวม 14,500 บาท แล้วจะเอาเงินอีก 1,500 มาจากไหน แล้วอีก 15 วันที่เหลือใช้เงินไหนกินข้าว"

– "เป็นไงให้ CEO ที่ไม่เข้าใจระบบราชการมาทำงานระดับประเทศ #เงินเดือนข้าราชการ โดนแบ่งจ่ายเดือนละ 2 ครั้ง คลังมีเงินหมุน อีก 15 วัน แต่ประชาชนข้าราชการเปลี่ยนจากเดือนชนเดือนมาเป็นวีคชนวีคแทน"

 

แต่ก็มีชาวเน็ตบางส่วนที่เห็นด้วย เพราะอาจจะเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน เหมือนช่วงต้นเดือนที่เงินเดือนออก จะมีประชาชนเข้ามาใช้จ่ายซื้อของเป็นจำนวนมาก หากแบ่งการจ่ายเงินเดือนเป็น 2 รอบ อาจจะกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับบางคนที่แสดงความเห็นว่า อย่างที่ประเทศออสเตรเลียจ่ายเงินทุกวันพฤหัสบดี ทำให้ทุกวันพฤหัสบดีร้านอาหารไทยในออสเตรเลียจะขายดีอย่างมาก ดังนั้น การเพิ่มความกี่ในการให้เงินเดือน อาจจะกระตุ้นเศรษฐในประเทศได้มากกว่าเดิม

 

 

 "สมชัย" โพสต์ถาม เงินเดือนข้าราชการ ปรับจ่ายเป็น 2 รอบ สร้างสรรค์หรือสร้างปัญหา

 

ในเวลาต่อมา นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (อดีต กกต.) แสดงความเห็นถึงมติครม. จ่ายเงินข้าราชการ 2 รอบ/เดือน ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “คิดใหม่ ทำเร็ว สร้างสรรค์ หรือ สร้างปัญหา มติแรกของ ครม.เศรษฐา คือ เปลี่ยนระบบการจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็นทุกครึ่งเดือน โดยมีเหตุผลว่า เพื่อให้ข้าราชการมีเงินเดือนใช้เพียงพอกระจายทั้งเดือน ลดการกู้ ไม่ต้องเป็นหนี้” พร้อมทั้งได้ขยายความเพิ่มเติม ดังนี้

1. เป็นการคิดแบบเร็ว ๆ หรือมีการศึกษาวิจัยอยู่เบื้องหลัง และสอบถามความเห็นจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง หรือยัง

2. ระบบการเบิกจ่ายเงินเดือนของกรมบัญชีกลาง ต้องมีการปรับใหม่และ ทำเพิ่มเป็นสองรอบต่อเดือน เป็นภาระทางธุรการแก่ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น คลังจังหวัด กองคลังของทุกหน่วยงานหรือไม่

3. ระบบเงินเดือนข้าราชการ ยังผูกกับเงินหักหนี้สินต่างๆ เช่น เงินกู้สหกรณ์ เงินหักส่งสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งหักเป็นรายเดือน ระบบดังกล่าวต้องแบ่งเป็นสองงวดตามด้วย หากแบ่งไม่ได้ จะเป็นการสร้างภาระแก่ข้าราชการในครึ่งเดือนแรก

4. ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ เงินกู้ธนาคาร หนี้บัตรเครดิต ทั้งหมดชำระเป็นรายเดือน และเป็นของเอกชน ที่อาจไม่สามารถขอผ่อนผันจ่ายเป็น 2 งวดต่อเดือนได้

5. คิดใหม่ ทำเร็ว ควรมีการศึกษาวิจัย และถามความเห็นจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะที่นี่ ไม่ใช่แสนสิริ และใครผ่อนคอนโดแสนสิริ อย่าลืมขอใช้สิทธิผ่อนเป็น 2 งวดต่อเดือนด้วย

 

 

 

หลังจากนั้นไม่นาน นายสมชัย ยังได้โพสต์เฟซบุ๊กอีกครั้ง ระบุ ครม. แจงเหตุผลว่า หน่วยราชการรายงานมาว่า ข้าราชการเรียกร้อง

ขอให้เปิดเผยว่า เป็นหน่วยราชการใด เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานเลขาธิการ ครม. ฯลฯ

และ ให้จัดระบบจ่ายเงินเดือน เป็นเดือนละ 2 ครั้งตามที่หน่วยงานดังกล่าวขอมาเฉพาะหน่วยงานนั้น

หากหน่วยงานใดไม่ได้ขอก็ใช้ระบบเดิมดีไหม ดีกว่าต้องมาออกแบบสำรวจว่า ใครจะรับแบบไหน และต้องมีสองระบบในทุกหน่วยงาน

 

 

 

 

 

"ศิริกัญญา" ชี้ เกิดปัญหาเงินช็อตแน่นอน

อีกด้านหนึ่ง นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า อาจจะเป็นความหวังดี ที่รัฐบาลอยากจะสร้างสภาพคล่องให้กับข้าราชการได้มีเงินเดือนออก 2 ครั้งต่อเดือน เหมือนในรูปแบบที่ตามโรงงานมักจะทำกัน คือออกเป็นรายสัปดาห์

แต่ในความเป็นจริงแล้วการที่รีบออก และไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ทำให้ข้าราชการส่วนใหญ่ที่ไม่มีเวลาเตรียมการอาจจะประสบปัญหาได้ เพราะต้องแลกระหว่างได้เงินก้อนกับสภาพคล่อง หลายคนอาจมีหนี้สินที่ต้องจ่ายเงินเป็นก้อนใหญ่ในช่วงต้นเดือนอยู่แล้ว ต้องไปปรับตัว ซึ่งก่อให้เกิดความยุ่งยากกับข้าราชการค่อนข้างมาก


ขณะเดียวกัน ตนก็คิดว่าถ้าอยากจะช่วยข้าราชการจริง ๆ สิ่งที่สามารถช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ข้าราชการ ได้เลยคือเรื่องตัดหน้าซองหนี้จะดีกว่า


"ข้าราชการทุกคนรู้ดีว่ามีปัญหาการตัดหนี้ที่ทำให้หน้าซองเงินเดือน เหลือไม่ถึง 10% ของเงินเดือนที่ได้รับ บางคนเงินเดือน 6-7 หมื่นบาท โดนตัดหน้าซองเหลือไม่ถึง 1,000 บาทก็มี เรื่องนี้มีการรณรงค์พูดถึงกันมาหลายปีแล้วว่าอยากให้ตัดหน้าซองให้เหลือไม่ต่ำกว่า 30% แต่จนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าเรื่องหนี้ข้าราชการถูกตั้งเป็นวาระแห่งชาติมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังไม่สำเร็จ อยากแจ้งไปทางรัฐบาลฝ่ายบริหารว่า หากอยากเพิ่มสภาพคล่องให้ข้าราชการ ตัด 2 รอบแบบนี้ถ้าไม่เวิร์ก หันมาแก้หนี้ให้กับข้าราชการด้วยการตัดหน้าซองให้เหลือเกิน 30% น่าจะช่วยสภาพคล่องข้าราชการมากกว่า" นางสาวศิริกัญญา ระบึ


เมื่อถามว่ามีเสียงสะท้อนจากข้าราชการว่าหมุนเงินไม่ทัน นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า แต่ละคนมีหนี้สินไม่เหมือนกัน บางคนมีสหกรณ์ออมทรัพย์ เขาก็ยังให้สหกรณ์ตัดเขาทีละครึ่งได้ แต่หากเป็นหนี้สถาบันการเงิน เช่น การเช่าซื้อรถยนต์ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามใจ ดังนั้น หลายคนมีปัญหาแน่นอนว่าจะช็อตเงินกะทันหัน ถ้าเงินออกทีละครึ่งเดือน น่าจะทำให้เหลือเงินไม่พอที่จะใช้มากกว่าที่จะช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ตนขอให้ลองคิดทบทวน ซาวด์เสียงดูว่าข้าราชการตัวจริงคิดเห็นอย่างไร