จากกรณีอุกอาจ ยิงสารวัตรแบงค์ ตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ในงานเลี้ยงที่บ้านของกำนันนกท่ามกลางตำรวจมากมายในที่เกิดเหตุ แต่พบพิรุธหลายอย่าง ทั้งปล่อยให้มือปืนหลบหนี และการทำลายหลักฐานอย่างเป็นขั้นตอนนั้น

 

ในส่วนของเซิร์ฟเวอร์กล้องวงจรปิดบ้าน “กำนันนก” ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่บันทึกภาพงานในวันเกิดเหตุนั้น นายโบ๊ตรับสารภาพว่าได้นำเซิร์ฟเวอร์ไปโยนทิ้งลงน้ำในคลองหลังวัดตาก้อง ต.ตาก้อง อ.เมืองนครปฐม จนต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ประสานชุดประดาน้ำลงงมค้นหาจนพบเซิร์ฟเวอร์ แล้วเร่งนำส่งเพื่อกู้ข้อมูลต่อไป

 

อ.อ๊อด ประธานหลักสูตรนิติวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวช่อง 8 เรื่องการกู้ข้อมูลในฮาร์ดดิสก์ไว้ว่า หัวใจสำคัญของเซิร์ฟเวอร์คือฮาร์ดดิสก์ที่เก็บข้อมูล หากฮาร์ดดิสก์ไม่ถูกกระทบจนแผ่นดิสก์ที่อยู่ภายในเสียหายก็ยังสามารถกู้ได้ โดยยกตัวอย่างกรณีเหตุการณีที่ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า ฮาร์ดดิสก์จมน้ำเป็นเวลานานกว่า 1 ปีก็ยังสามารถกู้ได้ โดยบริษัทกู้ข้อมูลเฉพาะทาง ซึ่งในประเทศไทยก็มีบริษัทรับกู้ข้อมูลแบบนี้อยู่ และกองพิสูจน์ลักฐานก็สามารถกู้ข้อมูลเองได้ด้วย

 

โดย อ.อ๊อดกล่าวต่อว่า กรณีฮาร์ดดิสก์กล้องวงจรปิดบ้านกำนันนกจมน้ำแล้วสามารถงมขึ้นมาได้ทันที ยิ่งง่ายต่อการกู้ข้อมูล เพราะตัวจานดิสก์ถูกประกบด้วยโลหะ ความเสียหายจะน้อย ความคิดเห็นส่วนตัวของอาจารย์คิดว่าน่าจะกู้ได้แน่นอน การกู้มีอยู่สองแบบคือ ถ้าวงจรยังทำงานอยู่ ก็ทำให้แห้งแล้วต่อไฟกระแสตรงครบวงจรสามารถใช้ซอฟต์แวร์ดึงออกมาได้โดยตรงโดยที่ไม่ต้องผ่าเคส แต่หากต่อวงจรเข้าไปแล้วไม่มีการตอบสนอง จะต้องเอาเข้าห้องแล็ปแฉพาะทางผ่าเคสออกเพื่อเอาดิสก์ที่อยู่ภายในออกมา

 

หากผู้ทำลายหลักฐานลบข้อมูลจากกล้องวงจรปิดก่อนโยนทิ้งน้ำ ก็ยังสามารถกู้ข้อมูลที่ลบแล้วได้เช่นกัน