นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่ง สส.พรรคประชาธิปัตย์ 16 คน โหวตสวนมติพรรคที่ให้งดออกเสียง ด้วยการเห็นชอบนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย ว่า นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา กลุ่ม 16 เป็นผู้ประกาศ ว่า ผู้ใดฝืนมติพรรคจะให้ลาออกจากพรรค ซึ่งเชื่อว่า มีเจตนามุ่งมาที่ตน เพราะไม่เห็นด้วยที่จะให้ประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล ต่างกับจุดยืนของกลุ่ม 16 ที่ต้องการร่วมรัฐบาล

 

นายชวน ยังกล่าวว่า ในการประชุมพรรค ก่อนการโหวตนายกรัฐมนตรี พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา 1 ใน กลุ่ม 16 เป็นผู้แจ้งต่อที่ประชุมเอง ว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่เข้าร่วมรัฐบาล ก่อนจะมีมติพรรคให้งดออกเสียง

 

แต่เมื่อถึงวันโหวต กลับมี สส.ประชาธิปัตย์ ที่โหวตให้นายเศรษฐา ซึ่งนายชวน ยอมรับว่า ไม่รู้ว่ามีการเจรจากันอย่างไร เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิ์โหวตภายหลัง

 

"ความดิ้นรนอยากเป็นรัฐบาล ต้องผ่านพรรค เป็นมติพรรค ไม่ได้เป็นปัญหา อยากร่วมรัฐบาลก็ทำได้ ไม่ใช่แอบไปเจรจาแล้วเค้าไม่รับ"

 

นายชวน ยังกล่าวว่า ได้กล่าวในที่ประชุมพรรค ว่าไม่อายหรือที่ไปเสนอตัว เพราะนายเศรษฐา เคยประกาศแต่แรกว่าจะไม่เชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล แต่ยังไปติดต่อด้วยตัวเอง ไปเจรจากับนายทักษิณ ชินวัตร ด้วยตัวเอง ซึ่งความดิ้นรนนี้ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของพรรคเสียหาย  

 

นายชวน กล่าวว่า ได้สอบถามจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนหน้านี้ ซึ่งนายจุรินทร์ ยืนยันว่า ไม่ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น จึงเชื่อว่ามีการเจรจาโดยแกนนำกลุ่มไม่กี่คน ซึ่งมีความดิ้นรนอยากเป็นรัฐมนตรี และอยากเข้าร่วมรัฐบาล

 

นายเดชอิศม์ ขาวทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา 2 สมัย รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำ 21 สส.พรรค แถลงชี้แจง ถึงกรณีที่ 16 สส. พรรคประชาธิปัตย์แหกมติพรรคให้ความเห็นชอบนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า พรรคประชาธิปัตย์ เริ่มไม่มีเอกภาพตั้งแต่การประชุมวิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ 2 รอบ มีเจตนาที่จะให้องค์ประชุมล่มทั้ง 2 ครั้ง ทำให้เกิดความเสียหายต่อพรรค

 

จากนั้น ในการประชุมพรรคเพื่อพิจารณาวาระโหวตนายกฯ โดยที่ประชุมแบ่งออกเป็น 3 แนวทางคือ เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ งดออกเสียง จึงได้มีการซักถามถึงสาเหตุ ส่วนใหญ่มีการอ้างถึงความขัดแย้งในอดีต สส. ใหม่จึงอยากให้แยกหน้าที่ สส.ปัจจุบันกับความขัดแย้งในอดีตออกจากกัน มิฉะนั้น ก็จะเกิดอคติตลอดไป ทำให้ผู้ใหญ่บางคนเดินออกจากห้องประชุมไปทันที

 

ขณะที่บางส่วน เสนอให้เห็นชอบ มองว่าขณะนี้ประเทศอยู่ในทางตัน ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ประเทศจะเกิดสุญญากาศนานไม่ได้ แต่บางคนบอกว่าควรงดออกเสียง ให้เหมือนกับกรณี การให้ความเห็นชอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล ทำให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ลุกขึ้นพูดว่า "อย่าโหวตกันเลย เพราะจริงๆเป็นเอกสิทธิ์ของ สส. ทำให้ในการประชุมพรรควันนั้นไม่มีการโหวตมติพรรค"

 

กระทั่งเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่าน มา สส. ของพรรคประมาณ 20 คนจึงได้ฟังการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ซึ่ง สส. เกือบ 100% สามารถรับนายเศรษฐาได้ เพราะมองว่า ปัญหาเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งถึงการลงมติ 3 คนแรก พบว่านายจุรินทร์ งดออกเสียง นายชวน หลีกภัยและนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ลงมติไม่เห็นชอบ ทำให้ สส. มองว่า มีการแหกมติเกิดขึ้น 3 เสาหลักของพรรค ยังลงมติไม่เหมือนกันเลย เราจึงตัดสินใจยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง

 

ที่ผ่านมาเรามองว่า พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลสมานฉันท์ กปปส. เคยขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายเนวิน ชิดชอบ และกลุ่มเพื่อเนวิน ก็เคยเป็นงูเห่า ออกมา สนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีพวกเขายังสมานฉันกันได้ เราเป็นประชาธิปัตย์ยุคใหม่ไม่เคยสวมเสื้อเหลืองเสื้อแดง เราไม่ควรรับมรดกความขัดแย้งจากรุ่นเก่า สส. เห็นว่าเราควรสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งรวมเสียงสร้างมากได้เป็นนายกรัฐมนตรี แม้เราจะเป็นฝ่ายค้าน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ส.ส 16 คนโหวตให้นายเศรษฐา ทวีสิน "

 

นายเดชอิศม์ ยังยืนยันว่า ตอนนี้เราเป็นฝ่ายค้านเต็มตัว ในฐานะ สส. ประชาธิปัตย์และพรรคฝ่ายค้าน เราไม่กระเหี้ยนกระหือรือที่จะไปเป็นรัฐบาล และเราก็ไม่มีอำนาจตัดสินใจเองได้ทุกอย่างต้องเป็นไปตามมติของพรรค แต่อย่างไรก็ตามต้องมีหนังสือเทียบเชิญร่วมรัฐบาลจากพรรคการนำมาก่อน

 

ส่วนกรณีที่บินไปพบนายทักษิณ ชินวัตรที่ฮ่องกง นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ตนเป็น สส.รุ่นใหม่พบพูดคุยได้ทุกพรรค เราแยกหน้าที่ออกจากความผูกพัน หน้าที่กับความแค้นความอคติในอดีต และส่วนตัวเองก็สนิทกับหัวหน้าพรรคเกือบทุกพรรค ถ้าการบินไปพบนายทักษิณ เป็นความผิด คงต้องถูกประหารชีวิตเพราะสนิทกับหัวหน้าพรรคทุกพรรค

 

ส่วนที่หลายคนมองว่า สส.ทั้ง 16 คนต้องการให้พรรคมีมติขับออกจากพรรคเพื่อไปหาพรรคใหม่นั้น นายเดชอิศม์ ระบุว่า ปกติการจะมีมติขับออกต้องเป็นการหารือร่วมกันระหว่าง สส. พรรคและกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเสียงสส.ส่วนใหญ่อยู่ฝั่งนี้หมดแล้ว ไม่รู้ใครจะขับใครออกกันแน่ แต่ส่วนตัวตอนนี้ฝ่ายเราไม่คิดจะขับใครออกจากพรรค อยากให้มีการพูดคุยเจรจาแต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครมาเจรจากับเราเลย ขอยืนยันว่า ตนไม่อยากรับมรดกความเคียดแค้นจากอดีต อยากทำในสิ่งที่ดีๆ จริงๆแล้วพวกเรายินดีที่จะออกจากตำแหน่งสส. วันนี้ วันพรุ่งนี้ได้เลย หากรู้สึกว่าได้ทรยศประชาชน ไม่ว่าคนใต้หรือครทั้งประเทศ เราไม่เคยคิดทรยศ เราซื่อสัตย์ เราไม่เคยทรยศ เรามาจากการเลือกตั้ง เราทำเพื่อพี่น้องประชาชนสิ่งที่แคร์ที่สุดคือชาติและประชาชน

 

ส่วนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพรรค ขณะนี้จุดเริ่มต้นน่าจะเริ่มจาก การประชุม วิสามัญพรรคเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ให้ได้ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับการแข่งขัน เรายินดีให้ความร่วมมือ เมื่อปี 62 ตนไม่ได้เลือกนายจุรินทร์ แต่เมื่อมติพรรคออกมาพวกตนก็ยอมรับและทำตัวเป็นลูกพรรคที่ดีปกป้องมาตลอด

 

ทั้งนี้มองว่า ตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่แตกเพียงแต่ความเห็นไม่ตรงกัน ดังนั้นขอให้ทุกคนลดทิฐิ หันมาพูดคุยกันและพากันผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้​

 "เดชอิศม์" สวน "ชวน" ตำหนิแหกมติพรรค ลั่น ปชป.เลือดใหม่ทำตามเสียงประชาชน