"ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์" โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อธิบายเกี่ยวกับการเลือกหัวหน้าพรรค ปชป. คะแนนเสียง ส.ส. 70% องค์ประชุมอื่น 30% ได้เปรียบ-เสียเปรียบ อย่างไร ?

วันที่ 7 ส.ค. 2566 "ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์" รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับการเลือกหัวหน้าพรรค ปชป. คะแนนเสียง ส.ส. 70% องค์ประชุมอื่น 30% ได้เปรียบ-เสียเปรียบ อย่างไร ? โดยระบุข้อความว่า

มีผู้ติดตามการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ปชป. หลายคนถามผมมาว่า การกำหนดให้คะแนนเสียงเลือกตั้งของ ส.ส. ในปัจจุบันมีสัดส่วน 70% และคะแนนเสียงขององค์ประชุมอื่น (เช่น กรรมการบริหารพรรคในปัจจุบัน อดีตหัวหน้าพรรค อดีตเลขาธิการพรรค อดีต ส.ส. รัฐมนตรีของพรรคในปัจจุบัน และอดีตรัฐมนตรีของพรรค เป็นต้น) มีสัดส่วนรวมกัน 30% ทำให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบ อย่างไร ?

ผมขอตอบคำถามของผู้ที่สนใจติดตามการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ปชป. ดังนี้

1. ส.ส. 1 คน มีคะแนนเท่าไหร่ ?
ตามข้อบังคับของพรรค ปชป. คะแนนเสียงเลือกตั้งของ ส.ส. ในปัจจุบันมีสัดส่วน 70% ของคะแนนเสียงขององค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่
ในปัจจุบัน ส.ส. ของพรรค ปชป. มีจำนวน 25 คน มีคะแนนคิดเป็นสัดส่วน 70% นั่นหมายความว่า ส.ส. 1 คน จะมีคะแนน 2.8% (70%/25)

2. องค์ประชุมอื่น 1 คน มีคะแนนเท่าไหร่ ?
ตามข้อบังคับของพรรค ปชป. คะแนนเสียงเลือกตั้งขององค์ประชุมอื่นมีสัดส่วน 30% ของคะแนนเสียงขององค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่
2.1 กรณีมีผู้เข้าร่วมประชุม 250 คน (ผู้เข้าร่วมประชุมต้องมีไม่น้อยกว่า 250 คน)
องค์ประชุมที่เป็น ส.ส. 25 คน องค์ประชุมอื่น 225 คน (250-25) นั่นหมายความว่า องค์ประชุมอื่น 1 คน จะมีคะแนน 0.13% (30%/225)
2.2 กรณีมีผู้เข้าร่วมประชุม 300 คน
องค์ประชุมที่เป็น ส.ส. 25 คน องค์ประชุมอื่น 275 คน (300-25) นั่นหมายความว่า องค์ประชุมอื่น 1 คน จะมีคะแนน 0.11% (30%/275)
2.3 กรณีมีผู้เข้าร่วมประชุม 351 คน (จำนวนองค์ประชุมทั้งหมด 351 คน)
องค์ประชุมที่เป็น ส.ส. 25 คน องค์ประชุมอื่น 326 คน (351-25) นั่นหมายความว่า องค์ประชุมอื่น 1 คน จะมีคะแนน 0.09% (30%/326)

3. ต้องใช้องค์ประชุมอื่นกี่คนจึงจะได้คะแนนเท่ากับ ส.ส. 1 คน ?
3.1 กรณีมีผู้เข้าร่วมประชุม 250 คน (ผู้เข้าร่วมประชุมต้องมีไม่น้อยกว่า 250 คน)
ส.ส. 1 คน มีคะแนน 2.8% ในขณะที่องค์ประชุมอื่น 1 คน มีคะแนน 0.13% ดังนั้น จะต้องใช้องค์ประชุมอื่นจำนวน 22 คน (2.8%/0.13%) จึงจะได้คะแนนเท่ากับ ส.ส. 1 คน
3.2 กรณีมีผู้เข้าร่วมประชุม 300 คน
ส.ส. 1 คน มีคะแนน 2.8% ในขณะที่องค์ประชุมอื่น 1 คน มีคะแนน 0.11% ดังนั้น จะต้องใช้องค์ประชุมอื่นจำนวน 26 คน (2.8%/0.11%) จึงจะได้คะแนนเท่ากับ ส.ส. 1 คน
3.3 กรณีมีผู้เข้าร่วมประชุม 351 คน (จำนวนองค์ประชุมทั้งหมด 351 คน)
ส.ส. 1 คน มีคะแนน 2.8% ในขณะที่องค์ประชุมอื่น 1 คน มีคะแนน 0.09% ดังนั้น จะต้องใช้องค์ประชุมอื่นจำนวน 32 คน (2.8%/0.09%) จึงจะได้คะแนนเท่ากับ ส.ส. 1 คน

 

 

4. สรุป
4.1 จะต้องใช้องค์ประชุมอื่น 22-32 คน (เปลี่ยนแปลงตามจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมตั้งแต่ 250-351 คน) จึงจะได้คะแนนเท่ากับ ส.ส. 1 คน
4.2 ถ้า ส.ส. จำนวนตั้งแต่ 18 คนขึ้นไป ลงคะแนนให้ผู้สมัครเป็นหัวหน้าพรรค ปชป. คนใด ผู้สมัครคนนั้นจะได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคทันที (18 คูณด้วย 2.8% = 50.4%) แม้ว่า ส.ส. จำนวนที่เหลือ รวมทั้งองค์ประชุมอื่นทั้งหมดจะไม่เลือกผู้สมัครคนนั้นก็ตาม
4.3 การกำหนดคะแนนเสียงเลือกตั้งของ ส.ส. ให้มีสัดส่วน 70% และขององค์ประชุมอื่น 30% ของคะแนนเสียงขององค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ หากใช้ในกรณีที่พรรค ปชป. มี ส.ส. จำนวนมากเหมือนในอดีต ความแตกต่างของคะแนนระหว่าง ส.ส. กับองค์ประชุมอื่นก็จะมีไม่มาก แต่กรณีที่พรรค ปชป. มี ส.ส. น้อยลงดังเช่นในปัจจุบัน ความแตกต่างของคะแนนจะเพิ่มมากขึ้น
4.4 สมมติว่าในอนาคตพรรค ปชป. มี ส.ส. น้อยลงกว่านี้ เช่นมีเพียง 10 คน เท่านั้น (ซึ่งผมไม่ต้องการให้เป็นเช่นนี้) ส.ส. 1 คน จะมีคะแนน 7% (70%/10) ดังนั้น หาก ส.ส. จำนวน 8 คน หนุนใครให้เป็นหัวหน้าพรรค ปชป. คนนั้นก็จะได้เป็นทันที (8 คูณด้วย 7% = 56%) ไม่ต้องอาศัยเสียงจาก ส.ส. ที่เหลือ และองค์ประชุมอื่นเลย
4.5 หลักเกณฑ์ที่ดีจะต้องเป็นหลักเกณฑ์ที่สามารถใช้ได้อย่างเป็นธรรมในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะมีจำนวน ส.ส. มากหรือน้อยก็ตาม