จะพาไปดูวิถีชาวบ้านในจังหวัดสุรินทร์ หาอาหารจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่เรียกว่า 'เทา' หรือ พืชในตระกูลสาหร่ายน้ำจืด ที่ชาวบ้านนิยมนำมาทำลาบรับประทาน
ชาวบ้านในตำบลท่าตูม อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ พาผู้สื่อข่าวไปดูวิธีการเก็บ 'เทา' หรือ พืชในตระกูลสาหร่ายน้ำจืด บริเวณหนองน้ำธรรมชาติ ด้านหลังโรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์ ที่ชาวบ้านมักนิยมนำมาทำ 'ลาบเทา' รับประทาน รวมถึงนำมาใส่ถุงตระเวณออกเร่ขาย ในหมู่บ้าน ในราคาถุงละ 20 บาท
ลักษณะของ 'เทา' จะเป็นสาหร่ายน้ำจืดสีเขียวสดเส้นเล็กๆ และจะอยู่ในหนองน้ำหรือสระน้ำที่สะอาดแบบน้ำนิ่ง เกาะกลุ่มกันเป็นก้อนๆ โดยเทาที่ยังอ่อนที่ชาวบ้านนิยมนำมารับประทาน จะลอยอยู่ใต้น้ำ ส่วนเทาแก่ จะลอยตัวขึ้นเหนือน้ำ ไม่สามารถนำมาปรุงอาหารได้
ส่วนเครื่องปรุงสำหรับทำ 'ลาบเทา' ประกอบด้วย หัวหอม ผักชี ต้นหอม ใบหูเสือ น้ำปลาร้า มะเขือต้ม ปลาทู ข้าวคั่วพริกป่น โดยจะไม่ใส่มะนาว หรือ สิ่งที่เป็นของเปรี้ยวทั้งสิ้น เพราะจะทำให้รสชาติ ไม่อร่อย ส่วนเทา ก็จะไม่มีการต้มหรือทำให้สุกแต่อย่างใด
'ลาบเทา' ยังถือว่าเป็นอาหารพื้นบ้านอีสาน ที่หารับประทานยาก และขายดีมากในช่วงนี้ สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับชาวบ้านแห่งนี้ ช่วงระหว่างรอเก็บเกี่ยวข้าว