กินผิดถึงตาย ! วิธีเปรียบเทียบ "แมงดาถ้วย" และ "แมงดาจาน" พร้อมข้อสังเกตแมงดาแบบไหนมีพิษหรือไม่มีพิษ
จากกรณีชาวบ้าน จ.ตราด ตั้งวงดื่มสุราพร้อมแกล้มไข่แมงดา จนเกิดอาเจียน ไม่มีแรง ถูกนำส่งโรงพยาบาล สุดท้ายเสียชีวิต 2 ราย เจ็บ 5 ราย ซึ่งคาดเป็นแมงดาถ้วยมีพิษ
ทั้งนี้ "สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ" ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการจำแนกชนิดของแมงดามีพิษกับไม่มีพิษ โดย รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
แมงดาถ้วย คือแมงดาที่มีพิษ มีชื่อเรียกหลายชื่อตามแต่ละพื้นที่ เช่น แมงดาไฟ หรือ เหรา พบได้เยอะในประเทศไทยอาศัยอยู่ตามหาดโคลนปนทราย ลักษณะภายนอกจะมีกระดองโค้งกลมเหมือนถ้วย ตัวสีเข้มวางไข่ตามป่าชายเลย วิธีสังเกตง่ายๆ จากลักษณะกายภาพให้ดูที่โคนหางถึงกลางหางจะมีลักษณะกลมเหมือนแท่งดินสอ เป็นแมงดาที่มีพิษไม่นิยมนำไข่มารับประทาน เนื่องจากกินแล้วเมา ผู้มีอาการแพ้จะมีอาการปากชา พูดไม่ได้ แขนขาชา หายใจไม่ออก บางรายอาจมีอาเจียนร่วมด้วยและเสียชีวิต
แมงดาจาน คือแมงดาที่รับประทานได้ ในอดีตพบมากในประเทศไทยทั้งฝั่ง อันดามันและอ่าวไทย ลักษณะทางกายภาพลำตัวแบนกว้างเหมือนจาน หากสังเกตที่หางจะเป็นสามเหลี่ยมตั้งแต่โคนถึงกลางหาง ส่วนปลายหางจะแหลม อย่างไรก็ดีไข่แมงดาจาน จะมีพิษอยู่บ้างแต่ถือว่าน้อยมากจนไม่เกิดอันตราย คนจึงนิยมนำไข่แมงดาจานมารับประทาน โดยเฉพาะคนจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ทำให้จำนวนประชากรแมงดาจานเริ่มเหลือน้อยมากในประเทศไทย จนกระทั่งในระยะหลังเริ่มมีการนำเข้าไข่แมงดาจานจากเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ในแง่ของการอนุรักษ์ประชากรแมงดาจาน อยากให้ประชาชนลดการรับประทานไข่แมงดาจานเพื่อเป็นการอนุรักษ์ประชากรแมงดาจานให้อยู่ในระบบนิเวศทางทะเลต่อไปด้วย
อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยประชาชนไม่ควรซื้อไข่แมงดาทะเลมาปรุงอาหารรับประทานเอง หากอยากรับประทานไข่แมงดาทะเลมาก แนะนำให้ไปที่ร้านอาหารทะเลมีความชำนาญในการสังเกตและเลือกไข่แมงดาที่ปลอดภัยมาขายได้ดีกว่าผู้บริโภคทั่วไป