แม่ฮ่องสอนคึกคัก! นักท่องเที่ยวแห่ล่องห่วงยาง แน่นแม่น้ำปาย

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ว่าที่ร้อยตรีภาณุวัฒน์ ขัดนาค ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่ภาพเก่า แต่เป็นกิจกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจากการลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการและได้ติดตามสถานการณ์การท่องเที่ยวมาโดยตลอด พบว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในปี 2565 มีสถานการณ์ขยายตัวมากขึ้นกว่าสถานการณ์ปกติในปี 2562 ส่วนในปี 2566 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปัจจุบันมีแนวโน้มการขยายตัวของนักท่องเที่ยวสูงขึ้นมากกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยประมาณ 62.62 % นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและมีความคึกคัก ทำให้ธุรกิจห้องพัก ธุรกิจรถเช่า ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจจำหน่ายสินค้าที่ระลึก และถนนคนเดินยังมีความคึกคัก นอกจากนี้แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมได้แก่ กองแลนหรือปายแคนย่อน ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เป็นสถานที่ชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยงาม จะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่มาชมทุกวันในช่วงเย็นตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป

ซึ่งเป็นไปนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของนายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เป็นผู้ริเริ่มสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็น “ตะวันตกสุดแดนสยาม” (Maehongson the Westernmost Province of Thailand. หรือ Maehongson the last sunset.)

สำหรับกิจกรรมล่องห่วงย่างแม่น้ำปาย ที่กำลังเป็นกระแสนี้ นับว่าเป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการและมีการกระจายรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี โดย ทาง ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน ได้เคยมีการทดสอบเสนอขาย เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาโดยเสนอขายเชื่อมโยงกับ “เทศกาลชิมข้าวเหนียวมะม่วง” ในถนนคนเดินปาย และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีตลอดมา

จนในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ได้เกิดมีภาพปรากฏในกระแสโซเชียลมีเดียมากมาย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศนิยมใช้บริการจำนวนมาก จนทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลในหลายด้าน ซึ่ง ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านปกครอง ด้านความมั่นคง ด้านผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้อง มาประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเพื่อให้เกิดแนวทางการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า ผู้ประกอบการต้องดำเนินการจดทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวให้ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องมีการทำประกันอุบัติเหตุตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ประกอบการต้องดูแลความปลอดภัย รวมทั้งงดจำหน่ายจ่ายแจกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างทำกิจกรรม รวมทั้งต้องมีการจัดเก็บขยะรักษาความสะอาดของพื้นที่ ตลอดจนผู้ประกอบการต้องแจ้งนักท่องเที่ยวให้สวมใส่เสื้อผ้ามิดชิดรัดกุมเมื่อเข้าพื้นที่ชุมชนและศาสนสถานต่าง ๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดีมาโดยตลอด และเป็นกิจกรรมเสนอขายนักท่องเที่ยวจนได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง