ด.ช.วัย 13 ปี จังหวัดบุรีรัมย์ ระบุ เพื่อนเอายาบ้าให้ลอง เม็ดแรกเม็ดเดียวติดยาว 2 ปี รู้สึกสงสารตายายที่เลี้ยงมา ต้องถูกขูดรีดเงินมาซื้อเสพวันละ 2-3 เม็ดทุกวัน

วันที่ 20 ก.พ. 2566 ที่วัดจันทราวาส ต.ลำปลายมาศ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งเป็นศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ของมูลนิธิอานัตพลซารัมย์ นำผู้ที่ติดยาเสพติดแล้วสมัครใจมาบำบัดรักษาให้เลิกเสพ พร้อมส่งเสริมอาชีพหลังจบหลักสูตรฟื้นฟู 5 วัน โครงการดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งความหวังของบรรดาผู้ปกครองเด็กเยาวชนที่ยังผวา ว่าบุตรหลานของตนเองจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ หรือหากเข้าไปแล้วจะเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่สามารถพึ่งพาได้

ด.ช.จูน (นามสมมุติ) อายุ 13 ปี นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.ลำปลายมาศ หนึ่งในผู้เข้าร่วมบำบัดในโครงการ เล่าว่า ตอนเรียนอยู่ชั้น ป.6 ถูกเพื่อนรุ่นพี่ในโรงเรียนมาชวนให้เสพยาบ้า ตอนแรกไม่กล้า แต่โดนรบเร้า จึงลองเสพเม็ดแรก ซึ่งทำได้ไม่ยากเพราะสูบบุหรี่เป็นอยู่แล้ว

แต่ไม่น่าเชื่อเพียงเม็ดเดียวที่เสพ กลายเป็นความอยากยาในวันถัดมา เพื่อนรุ่นพี่บอกว่า "มันดีด" จึงขอซื้อจากเพื่อนรุ่นพี่ในราคาเม็ดละ 100 บาท เสพมาอย่างต่อเนื่อง แทบทุกวันที่ขอเงินจากตากับยายมาได้

ต่อมาเสพวันละเม็ดไม่เพียงพอ จะต้องเสพวันละ 2-3 เม็ด ยอมรับว่าต้องขอเงินตากับยายทุกวัน หรือบางครั้งจะต้องขโมยเพื่อนำไปซื้อยาบ้ามาเสพ ยอมรับสงสารตากับยายที่พยายามหาเงินมาให้ทุกวันๆ ละ 200-300 บาท รวมแล้วเสพยาบ้ามานานกว่า 2 ปี

จนกระทั่งมีโครงการนี้จึงสมัครเข้าบำบัด ตอนนี้รู้ซึ้งแล้วจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีกแล้ว และอยากจะฝากถึงเพื่อนๆ ที่คิดอยากจะลองเสพยาบ้า ตนขอแนะไม่เข้าไปใกล้ดีที่สุด เพราะเป็นการพลาดแล้วพลาดเลย กว่าจะแก้ได้ต้องใช้เวลา ครั้งนี้หากไม่มีโครงการนี้อาจจะถลำลึกไปมากกว่านี้

ด้านนายโสภณ ซารัมย์ ประธานมูลนิธิอานัตพลซารัมย์ กล่าวว่า มูลนิธินี้ได้ตั้งขึ้นมาหลังจากลูกชายชื่ออานัตพลได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือสังคมทุกรูปแบบ ไม่เกี่ยวกับการเมือง

ระยะหลัง เห็นยาเสพติดแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทุกหมู่บ้านจะต้องมีคนเสพไม่มากก็น้อย มีความรู้สึกเป็นห่วงสังคม ซึ่งบางรายที่ตนพบพ่อแม่ ไม่มีแม้ข้าวจะกรอกหม้อ แต่ลูกชายมีเงินซื้อยาบ้ามาเสพ จึงเอางบประมาณจากมูลนิธิฯ มาเปิดเป็นศูนย์บำบัด โดยมีหน่วยงานราชการและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

นายโสภณ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ได้ประเมินเอาไว้ว่า ผู้ที่เข้ามาบำบัดในศูนย์แห่งนี้ แต่ละรอบถ้าออกไปแล้ว จำนวนหนึ่งคาดว่าประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์จะหันกลับไปเพราะเพื่อนชวน อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่าจะไม่หวนกลับไป เพราะมีการอบรมเข้ม

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ยาบ้าเข้ามาในทุกรูปแบบ และกระจายอย่างรวดเร็ว ในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่ง อยากให้มีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้ช่วยกันสอดส่องดูแลเป็นตาสับปะรด เพื่อความสงบสุขของสังคมต่อไป