เจ๋งมาก !! "สื่อจีน" ตีข่าวชื่นชม "นักศึกษาไทย" เจ้าของผลงานออกแบบโลโก้ "ชะลอม 3 สี" เอเปค2022 พร้อมไอเดียแจ๋ว ความหมายลึกซึ้ง

วันนี้ (17 พ.ย. 65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ "China Report ASEAN - Thailand" ได้โพสต์ชื่นชม นายชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นักศึกษาปี 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ชนะการออกแบบโลโก้เอเปค 2022 ซึ่งเป็น ชะลอม 3 สี ระบุเป็นการเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการแสดงสัญลักษณ์ของเศรษฐกิจไทย

 

โดยระบุว่า เรามักนึกถึง "ต้มยำกุ้ง" เมื่อพูดถึงอาหารไทย นึกถึง "รถตุ๊กตุ๊ก" เมื่อพูดถึงการขนส่ง แล้วสัญลักษณ์ของเศรษฐกิจไทยที่อยู่คู่กับคนไทยมานานนึกถึงอะไร? "ชะลอม" จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 ที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า โลโก้สามสีรูปชะลอมที่ปรากฏอยู่ทั่วกรุงเทพฯ เป็นฝีมือการออกแบบของนักศึกษาไทย วัย 21 ปี

 

ชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นักศึกษาปี 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ชนะการออกแบบโลโก้เอเปค บอกว่า ช้าง วัด ยักษ์ สามสิ่งนี้มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของไทยจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา เขาจึงคิดนอกกรอบ ไม่อยากใช้สัญลักษณ์ที่ใช้กันบ่อยๆ เลยนึกถึง "ชะลอม" แต่สิ่งที่ท้าทายในการออกแบบคือ จะผสมผสานอัตลักษณ์ของเอเปคเข้ากับสัญลักษณ์ของไทยได้อย่างไร นายชวนนท์บอกว่า เรามักนึกถึงต้มยำกุ้งเมื่อพูดถึงอาหารไทย นึกถึงรถตุ๊กตุ๊กเมื่อพูดถึงการขนส่ง แล้วสัญลักษณ์ของเศรษฐกิจไทยที่อยู่คู่กับคนไทยมานานคืออะไร "ชะลอม" จึงเป็นคำตอบสุดท้าย ชะลอมเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้งานกันมาแต่โบราณ จักสานขึ้นจากไม้ไผ่และเป็นงานฝีมือที่ยั่งยืน สะท้อนความสมดุลของวิสัยทัศน์เอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

 

ทั้งนี้ นายชวนนท์ใช้เวลาราว 3 เดือน ปรับแต่งลักษณะของชะลอมจนกลายเป็นโลโก้รูปแบบสุดท้ายที่เราเห็น ไม้ไผ่จักสานเข้าด้วยกัน มีช่องว่าง 21 ช่อง สื่อถึงสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค ปลายชะลอมชี้ขึ้นฟ้า สื่อถึงการเติบโตของเอเปค สีน้ำเงินที่เลือกใช้เป็นสีสัญลักษณ์แทนการอำนวยความสะดวก สีชมพูสีแห่งการเชื่อมโยง และสีเขียวสีแห่งความยั่งยืน สะท้อนถึงธีมของการประชุมที่ว่า "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล – Open. Connect. Balance." แนวคิดการออกแบบโลโก้ที่ละเอียดลึกซึ้งและผลงานที่ประณีตงดงามเช่นนี้ ทำให้ชวนนท์ผู้คลุกคลีกับการวาดภาพมาตั้งแต่ประถม เอาชนะผู้ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดเกือบ 600 รายได้สำเร็จ