"มท.1" ยอมรับสถานการณ์น้ำจังหวัดอุบลฯ 8 ต.ค.นี้ ยังน่าห่วง เร่งระบายลงแม่น้ำโขง ส่วนระดับน้ำเจ้าพระยาไม่กระทบ กทม. แน่ ย้ำต้องทำความเข้าใจชาวบ้านเรื่องปล่อยน้ำลงทุ่ง หลังเกิดความขัดแย้งในหลายพื้นที่

 

วันที่ 5 ต.ค. 2565 พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่า วันที่ 8 ตุลาคมนี้ จังหวัดอุบลราชธานี จะเป็นจุดพักน้ำที่มีปริมาณมาก เพราะน้ำที่ระบายจากลุ่มน้ำชี จะไหลผ่านจากจังหวัดชัยภูมิไปยังจังหวัดขอนแก่น และจบที่จังหวัดอุบลราชธานี แต่ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ยังต่ำกว่าตลิ่ง ดังนั้น จะเร่งระบายน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อชาวจังหวัดอุบลราชธานีให้มากที่สุด

ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในส่วนของเขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาท เมื่อรวมกับมวลน้ำที่มาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ก็ยังถือว่าอยู่ในจุดที่ไม่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานคร

 

 

พลเอกอนุพงษ์ ยังกล่าวอีกว่าหากไม่มีพายุหมุนฤดูร้อนเข้ามาอีก หรือร่องมรสุมพาดผ่าน เบื้องต้นขณะนี้คาดว่าจะมีร่องมรสุม ได้รับอิทธิพลจากความกดอากาศจากประเทศจีน ทำให้คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกที่ภาคใต้ หากเป็นแบบนี้คาดการณ์ว่าภาคเหนือและภาคอีสานจะได้รับผลกระทบน้อย ต่างจากปี 2554 เรามีพายุหมุนฤดูร้อน 3 ลูก ร่องมรสุมพาดผ่านติดต่อกันยาวนาน หากจำไม่ผิดมี 2 ร่องมรสุม ก็เลยทำให้มีฝนตกมากและระบายน้ำไม่ทัน

ส่วนการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนนั้น พลเอกอนุพงษ์ ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เร่งสำรวจ เพื่อเตรียมการเยียวยาประชาชนแล้ว และเจ้าหน้าที่ก็ได้เตรียมข้อมูลไว้พร้อมแล้ว เมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็จะเร่งสำรวจ และจ่ายเงินเยียวยาฟื้นฟูที่อยู่ที่อาศัยของประชาชนต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วจะมีการทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างไร เรื่องความขัดแย้งเนื่องจากบางคนเรียกร้องให้ปล่อยน้ำลงทุ่ง พลเอกอนุพงษ์ ตอบว่า ต้องเร่งทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน

"ถึงอย่างไรน้ำก็ไม่สามารถ ไหลมาจากเหนือแล้วเราหยุดยั้งได้ หากไม่เปิดน้ำก็ต้องท่วม ไหนจะประตูระบายน้ำ ไหนจะต้องข้ามประตู ยิ่งไปกันใหญ่ มันก็ต้องปล่อย ทีนี้ชาวบ้านบางคนขอให้ทยอยปล่อยน้ำจะได้ทยอยไป หากปล่อยมากเขาก็จะได้รับผลกระทบ ผมติดตามข่าวก็ต้องพูดนำเสนอว่าปล่อยแต่ว่าปล่อยให้ไปทัน"

พลเอกอนุพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องนโยบายอยู่ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้อยู่กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง