ดรามาหนัก พ่อค้าไลฟ์สดขายข้าวแกงถุงใส่บาตรออนไลน์ ชาวเน็ตวิจารณ์ไม่เหมาะสม ด้านพ่อค้าหลั่งน้ำตาชี้แจง ทำด้วยใจบริสุทธิ์ ข้าวแกงทุกถุงทานได้จริงไม่เคยเวียนขายซ้ำ เปิดโอกาสให้คนป่วยติดเตียง คนไทยในต่างประเทศทำบุญ
วันที่ 19 ก.ย. 2565 จากกรณีที่เพจข่าวสารเมืองปราการv2 ได้โพสต์คลิปวิดีโอ พร้อมระบุข้อความว่า" มิติใหม่แห่งการตักบาตรโดยที่ไม่ต้องลุกจากที่นอน อยากใส่บาตรไม่ต้องไปถึงที่แล้วนะ ในขณะที่เลื่อนช็อปปิ้งของใน Tiktok เพราะนอนไม่หลับ สิ่งนี้ทำฉันว้าวที่สุด ในตอน 6 โมงเช้าคือ การ live ขายของใส่บาตร พร้อมเขียนชื่อ -นามสกุล และใส่บาตรให้ลูกค้ าแค่โอนก็ได้ใส่บาตรแล้ว ไอเดียดีมาก ยุคนี้ใครไม่ปรับตัว อยู่ไม่รอดนะบอกเลย แล้วคือร้านขายดีจนสงสารพระ รับของไม่ทัน 5555"
หลังจากนั้นก็มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมากถึงความเหมาะสมว่า พระยืนรับบาตรแบบนี้ผิดวินัยสงฆ์หรือไม่ ของที่ใส่บาตรมีการนำมาเวียนขายซ้ำหรือไม่ ซึ่งก็มีบางคอมเมนต์ที่เห็นด้วยกับการทำบุญออนไลน์แบบนี้ มองว่าดีที่ทางร้านเป็นสะพานบุญ
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ร้านขายของใส่บาตรในตลาดบางฆ้อง ถนนศรีสมุทร ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ พบเป็นร้านขายข้าวแกงและของใส่บาตร โดยมี 2 สามีภรรยาไลฟ์สดขายข้าวแกงเป็นชุดใส่บาตรผ่านแอปพลิเคชันติ๊กต็อก โดยมีคนให้ความสนใจโอนเงินซื้อชุดข้าวแกงใส่บาตรจำนวนมาก ซึ่งปกติทางร้านมีลูกค้าประจำเป็นคนไทยที่อยู่ต่างประเทศสนใจทำบุญออนไลน์ด้วย ทางร้านจะไลฟ์สดเปิดให้จองชุดใส่บาตร ตั้งแต่ช่วงเวลา 05.30 - 07.00 น. โดยการเขียนชื่อนามสกุลคนที่ซื้อผ่านออนไลน์ใส่ไปในถุงทุกถุง และจะนิมนต์พระสงฆ์ที่เดินผ่านร้านเพื่อใส่บาตร และให้คนที่ทำบุญออนไลน์รับพรกับพระสงฆ์กันแบบสดๆ โดยที่ไม่มีการนำชุดใส่บาตรมาเวียนขายซ้ำ และพระสงฆ์ไม่ได้ยืนปักหลักเพื่อรับบาตรที่หน้าร้านอย่างที่ชาวเน็ตตั้งข้อสงสัย
นายวรพงศ์ ทัศนา อายุ 45 ปี เจ้าของร้านข้าวแกงเฮียโก๋ เปิดเผยว่า ตนเปิดร้านขายข้าวแกงใส่บาตรที่ตลาดแห่งนี้มาเกือบ 9 ปี เมื่อเดือนที่แล้วตนไลฟ์สดอยู่ แล้วมีลูกค้าถามตนว่าทำอะไร ตนเลยบอกว่ากำลังทำกับข้าวใส่บาตรส่งพ่อค้าแม่ค้าในตลาดบางฆ้อง ลูกค้าเลยขอฝากทำบุญด้วยเพราะต้องดูแลแม่ที่ป่วยติดเตียงไม่สามารถออกมาทำบุญได้ ตนเลยมองว่าเป็นการดีที่เป็นสะพานบุญให้คนอื่น ซึ่งแนวคิดนี้ตนคิดเองไม่ได้ลอกเลียนแบบใครทำด้วยใจซื่อบริสุทธิ์ ตนไลฟ์สดขายชุดใส่บาตรแบบนี้มาได้เดือนกว่าแล้ว โดยมีลูกค้าประจำและขาจรในออนไลน์หลายคน วันนึงจะขายผ่านออนไลน์ได้ประมาณ 60 ชุด ขายราคาปกติชุดละ 40 บาท แต่ละชุดจะมีแกงหนึ่งถุง ข้าวสวยหนึ่งถุง ขนมหวาน และน้ำดื่ม
ส่วนประเด็นดราม่าในโลกออนไลน์ ตนมองว่าทุกคนมีสิทธ์ที่จะคิด ช่องทางของตนเหมาะสำหรับผู้ป่วยติดเตียง คนที่ไม่มีเวลา และคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ ส่วนคนที่มองตนในแง่ร้ายสักวันเขาจะเข้าใจเองเพราะตนทำด้วยใจซื่อบริสุทธ์ ตนทราบดีว่าการลงโซเชียลเป็นดาบ 2 คม ที่มีทั้งดีและไม่ดี ซึ่งตอนนี้ยอมรับว่าอ่านคอมเมนต์แล้วกระทบต่อจิตใจตนและคนในครอบครัว คนชมก็มี คนด่าก็เยอะ ตนเข้าใจดีว่าไปห้ามความคิดใครไม่ได้
นายวรพงศ์ ยังกล่าวอีกว่า พระที่มารับบาตรที่ร้านตนเดินบิณฑบาตรผ่านร้านทุกวัน วันละ 6-8 รูป พอเดินผ่านมา ตนก็นิมนต์ ไม่ได้จำเพราะเจาะจงว่าจะต้องใส่พระรูปไหน พระท่านไม่ได้นั่งหรือยืนรอรับบาตรที่หน้าร้านอย่างที่โลกโซเชียลตั้งข้อสังเกต และร้านตนไม่เคยนำชุดใส่บาตรมาวนขายใหม่ เพราะตนรู้ดีว่าถ้าทำแบบนั้นลูกค้าและตนย่อมไม่สบายใจ หลังจากที่มีการเผยแพร่ไปในโลกโซเชียลยอมรับว่ามีผลกระทบ บางคนด่าตนแบบเสียหายโดยที่ยังไม่รู้ข้อเท็จจริง และพระสงฆ์ที่เคยมารับบาตรบางรูปไม่กล้าเดินผ่านร้าน เพราะกลัวชาวพุทธไม่สบายใจ