ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ตรวจความพร้อมของสถานีสูบน้ำบางซื่อ สั่งเปลี่ยนปั๊มน้ำ ชี้ของเก่า 12 ตัวใช้มา 15 ปี ชี้มีจุดฟันหลอ เอกชนไม่ให้สร้าง กลัวผิดฮวงจุ้ย

 

(29 ก.ค. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจความพร้อมของสถานีสูบน้ำบางซื่อ โดยมี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมลงพื้นที่ ว่า วันนี้ก็มาตรวจระบบระบายน้ำ จริง ๆ แล้ว ระบบระบายน้ำในกรุงเทพฯ มีหลัก ๆ 2 ส่วน คือ ระบบคลองกับระบบอุโมงค์ระบายน้ำ 

ดังนั้นคลองจึงเป็นหัวใจหลัก คือ คลองจะดันน้ำมาตามคลอง มาถึงประตูระบายน้ำซึ่งมีประตูกั้นที่แม่น้ำเจ้าพระยา แล้วต้องสูบออก อาจจะมีคลองย่อย ฉะนั้นต้องทยอยน้ำไปเรื่อย ๆ จากคลองหลักไปแม่น้ำเจ้าพระยา สิ่งสำคัญที่สุดคือยุทธศาสตร์ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพคลอง เราทำแต่อุโมงค์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะอุโมงค์รับน้ำได้เป็นจุด ๆ แต่ถ้าจะกระจายในพื้นที่ คลองมีความสำคัญ วันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เรามาดูที่คลองบางซื่อ คลองบางซื่อเป็นตัวหลักเพราะรับน้ำจาก 2 คลอง ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงวัดแก้วฟ้า จะตัดคลองเหนือใต้ 2 คลองคือคลองเปรมประชากรที่มาจากดอนเมือง กับคลองลาดพร้าว หรือคลองสอง คลองบางบัว นอกจากนี้คลองลาดพร้าวยังตัดกับคลองแสนแสบด้วย โดยคลองลาดพร้าวมี 2 อุโมงค์ คือ รับน้ำตรงอุโมงค์ที่แสนแสบตรงพระราม 9 กับอุโมงค์ที่บางซื่อ

โดยวันนี้มาดูเรื่องระบบระบายน้ำ ซึ่งที่บางซื่อมีตัวปั๊มน้ำ 17 ตัว ดูดน้ำตัวละ 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อุโมงค์บางซื่อระบายได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่สำคัญคือตัวปั๊ม 17 ตัว เปลี่ยนไปแล้ว 5 ตัวเป็นตัวใหม่ ส่วนอีก 12 ตัวที่เหลือมีอายุ 15 ปี เนื่องจากอายุมันเยอะประสิทธิภาพก็ลดลง อย่างที่ท่านที่ปรึกษาได้มาดู ปั๊มตัวหนึ่งที่เปลี่ยนไป ราคาตัวละ 4 ล้านบาทรวมติดตั้ง ถ้าเราปรับพวกนี้ มันลงทุนไม่เยอะเมื่อเทียบกับอุโมงค์ระบายน้ำ อุโมงค์ตัวหนึ่งอย่างบึงหนองบอนก็ 5 พันล้าน

ถ้าเราปรับประสิทธิภาพของปั๊มน้ำ ราคาก็ไม่ได้แพง เชื่อว่าการระบายน้ำจะดีขึ้น หัวใจหลักตอนนี้ต้องไล่ทุกจุดว่าปั๊มต้องทำงานได้ดี เรื่องระบบไฟ 190 สถานีต้องไปไล่ทุกจุด ตอนนี้ได้ดำเนินการแล้ว ประสิทธิภาพของปั๊มต้องทันสมัยเต็มที่ตามที่ได้ออกแบบไว้ ประสิทธิภาพของคลองเอง ความตื้นเขิน หัวใจคือท้องคลอง

“เรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพคลองเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำ ไม่ต้องใช้เงินเยอะเหมือนอุโมงค์ระบายน้ำ นี่เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพคลองให้ดี” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

สถานการณ์น้ำเหนือ ลดลงจาก 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือ 900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งไม่ได้รุนแรงมาก ปีที่แล้วที่ท่วมหนัก 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่ท่วมแถวถนนทรงวาด ก็อยู่ในสถานการณ์ที่เราดูแลได้ แต่ก็ต้องไม่ประมาทโดยเฉพาะพวกฟันหลอ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเอกชนไม่ให้สร้าง กลัวผิดฮวงจุ้ย หรือว่าไม่ให้ทำ สุดท้ายน้ำก็มาท่วมทั้งหมู่บ้าน ก็ฝากบอกว่าก็ต้องเสียสละเหมือนกัน อย่างน้อยช่วงนี้ให้เราเรียงกระสอบทรายก่อน ตรงถนนทรงวาดก็มีอยู่ประมาณ 200 เมตร เสริมกระสอบทรายให้แน่นเราจะได้ดูแลเพื่อนบ้านด้วย ตอนนี้ผักตบชวาเยอะมาก ให้สำนักสิ่งแวดล้อมกับสำนักการระบายน้ำช่วยกันเก็บ เข้าใจว่าปล่อยน้ำเหนือมา ทำให้การเดินเรือลำบากขึ้น ได้สั่งให้เก็บหมดแล้ว ฝั่งพระนครมีประตูระบายน้ำ 523 ประตู ชำรุด 14 ประตู ที่เก็บขยะอัตโนมัติ 263 ตัว ชำรุด 63 ตัว เครื่องสูบน้ำ 733 ตัว ที่ชำรุด 22 ตัว ประสิทธิภาพรวมก็ถือว่าใช้ได้อยู่ เดี๋ยวดูว่างบประมาณปีนี้มีเหลือไหม ถ้าไม่มีก็ต้องใส่เป็นงบแปรญัตติของปี 66 

“ปรับปรุงประสิทธิภาพคลองเป็นเรื่องสำคัญ ปรับปรุงประตูน้ำ ปรับปรุงระบบปั๊ม ปรับปรุงการลอกคลอง การเก็บขยะ ต้องเร่งทำ คือเราไปเน้นเรื่องอุโมงค์มาก หัวใจสำคัญต้องทำทั้งคู่ ทำให้ balance อุโมงค์ก็ต้องเดินไป สุดท้ายถ้า 2 ระบบเสร็จพร้อมกัน ก็จะเกื้อกูลกันและทำงานได้อย่างเต็มที่” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว