กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยพบจุดสัมผัสชายติดฝีดาษวานร ลูกบิด ประตู ผู้าปู ผลตรวจออกมาเป็นบวก ยังไม่ชัดแพร่เชื้อได้หรือไม่

 

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจหาเชื้อฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง ว่า ขณะนี้มีการส่งสิ่งส่งตรวจมาให้กรมฯ ตรวจเพิ่มเติม 27 ตัวอย่าง ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกรณีชายชาวไนจีเรีย ที่ติดเชื้อรายแรก โดยผลตรวจออกมาเป็นลบ

ส่วนการตรวจสิ่งแวดล้อม เช่น ลูกบิดประตู ผ้าปู ต่างๆ พบว่าผลเป็นบวก แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่า ที่เจอบวกนั้นสามารถแพร่เชื้อต่อได้หรือไม่ เนื่องจากปกติการติดเชื้อ ต้องมีความใกล้ชิดกันมากๆ ส่วนการสัมผัสสิ่งต่างๆ นั้น โดยปกติผิวหนังคนเราจะมีมาตรการป้องกันเชื้อเข้าสู่ร่างกายอยู่แล้ว ยกเว้นบริเวณผิวหนังมีบาดแผล หรือตามเยื่อบุต่างๆ เช่น ดวงตา จมูก ก็อาจจะมีความเสี่ยงได้ แต่มาตรการป้องกันโควิด ยังสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ ทั้งล้างมือด้วยสบู่ และสเปรย์แอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่าง

"ขณะนี้เรานำตัวอย่างเชื้อที่เก็บจากแผลของผู้ติดเชื้อรายแรกในไทย มาทำการเพาะเชื้อให้มีปริมาณมากขึ้น เพื่อนำไปทดสอบกับภูมิคุ้มกันของคนไทยที่เคยปลูกฝีดาษไปก่อนหน้านี้ว่าสามารถป้องกันหรือทำลายเชื้อฝีดาษลิงได้หรือไม่ แต่ขณะนี้การเพาะเชื้อยังไม่ค่อยขึ้นหรือขึ้นช้า จึงต้องรอเวลาอีกสักระยะหนึ่ง หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง" นพ.ศุภกิจกล่าว

ส่วนที่มีคนให้ข้อมูลว่า โรคฝีดาษวานรบางสายพันธุ์สามารถแพร่เชื้อทางอากาศได้นั้น นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องฟังหูไว้หู ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการแพร่เชื้อทางอากาศ แม้แต่โรคโควิด -19 ที่ก่อนหน้านี้ออกมาบอกว่ามีการแพร่ทางอากาศ แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งไวรัสโควิด เป็น RNA ซึ่งมีขนาดเล็กมากด้วยซ้ำ ในขณะที่เชื้อฝีดาษวานร เป็น DNA ไวรัสที่มีขนาดใหญ่กว่าโอกาสกลายพันธุ์จะไม่เร็ว