กมธ.งบปี 66 ตั้งคำถามกรมควบคุมโรค หยุดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกาได้หรือไม่ หลังประชาชนส่วนใหญ่ฉีด mRNA เข็มกระตุ้น

 

วันที่ 6 ก.ค.65 ที่รัฐสภา นางสาวจิราพร สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย และ นางสาว ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันแถลงผลการประชุม

โดย นางสาวปิยะรัฐชย์ กล่าวว่า กมธ.ฯ ใช้เวลาในการพิจารณางบประมาณฯมาแล้วทั้งหมด 20 วัน รวม 179 ชั่วโมง ซึ่งมีหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณาไปแล้ว 11 กระทรวง 9 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 40.7 ของหน่วยงานที่ต้องพิจารณาทั้งหมด

ทั้งนี้ ในการพิจารณางบประมาณของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ทาง กมธ. ได้สอบถามเกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา ว่าหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติปรับลดการจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา เหลือ 34,500,500 โดส เพราะปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ อยู่ระหว่างการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ด้วยวัคซีน mRNA จึงต้องการทราบว่า กรมควบคุมโรคจะเสนอให้ยุติการจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา ได้หรือไม่

นอกจากนั้น กมธ. ยังถามว่า ครม.มีมติจัดซื้อ Long-Acting Antibody หรือ LAAB หรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ จำนวน 257,500 โดส จึงต้องการให้กรมควบคุมโรคชี้แจงว่า จะสามารถปรับข้อสัญญากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา ได้หรือไม่

ซึ่งผู้แทนจากกรมควบคุมโรค ชี้แจงว่า กรณีการขอแก้ไขสัญญาจัดซื้อวัคซีนมาเป็นการจัดซื้อ LAAB นั้น อยู่ในเงื่อนไขที่สามารถดำเนินการได้ และในปัจจุบันยังมีกลุ่มผู้เสี่ยงสูง ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยวัคซีนจึงได้มีการจัดหา LAAB เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 การป่วยหนัก และการเสียชีวิตในผู้ป่วย 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยล้างไต ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันกับตัวเอง

ขณะเดียวกัน นางสาวจิราพร เผยว่า กมธ. บางท่าน ยังสอบถามถึงการรายงานตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบัน สะท้อนตัวเลขผู้ติดเชื้อตามความเป็นจริงหรือไม่ เนื่องจากโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ BA.2 BA.4 และ BA.5 ที่กำลังแพร่ระบาดในระลอกที่ 5 สามารถกลายพันธุ์และแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอีกครั้ง

แต่การรายงานตัวเลขของหน่วยงานกลับไม่สะท้อนจำนวนที่แท้จริงของผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะปัจจุบันที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ทำให้ผู้ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อมูลว่าตนเองติดเชื้อ เพื่อทำการรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งทำให้ตัวเลขของผู้ติดเชื้อแท้จริงสูงกว่าที่มีการรายงาน ดังนั้น กมธ.จึงมีข้อเสนอแนะให้ หน่วยงานควรมีมาตรการในการตรวจสอบตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สะท้อนกับความเป็นจริง

ซึ่งทางผู้แทนของกรมควบคุมโรคชี้แจงว่า ตัวเลขการรายงานผู้ติดเชื้อ มาจากการตรวจแบบ RT-PCR ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน การตรวจแบบสากล ทั้งนี้ ข้อมูลการตรวจ ATK ล้วนถูกนำมาประเมินในสถานการณ์การแพร่ระบาดด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กมธ.บางท่าน ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในความเป็นจริง ผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ที่บ้าน ที่มีการตรวจ ATK แล้ว ไม่ได้แจ้งผลการตรวจมาที่หน่วยงาน จึงไม่มีตัวเลขรายงานของผู้ป่วยปรากฏอยู่ ดังนั้นอาจไม่สะท้อนตัวเลขจากผู้ป่วยจริง