ผู้ว่าฯ ชัชชาติ หารือ รฟท. ฟื้นตลาดนัดจตุจักร ตั้งเป้าเป็นตลาดเปิดระดับโลก พร้อมตั้งทีมประสานงาน เดินหน้าแก้ปัญหาทุกมิติเพื่อประชาชน

 

วันที่ 6 ก.ค.65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยว่า กรุงเทพฯ และการรถไฟแห่งประเทศไทย มีความร่วมมือกันในหลายเรื่อง

โดยเรื่องแรกคือ ตลาดนัดจตุจักร ซึ่ง กทม. ยังเป็นผู้บริหารตลาดอยู่ แต่มีสัญญาที่ต้องจัดการร่วมกับ รฟท. รวมถึงการวางแผนในอนาคตที่จะทำให้ตลาดนัดจตุจักรเป็นตลาดระดับโลกได้อย่างไร ซึ่งจะมีคณะกรรมการตลาดชุดใหม่หารือร่วมกับ รฟท. อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ สัญญา กทม. เหลือแค่ 6 ปีสุดท้าย จากนั้น รฟท. จะเป็นผู้ดูแลตลาดนัดจตุจักรต่อหรือไม่ ต้องหารือกันเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องด้วย

ส่วนเรื่องที่ 2 คือถนนริมทางรถไฟ อาทิ ถนนกำแพงเพชร ที่ผ่านมาประชาชนมีข้อร้องเรียนสภาพถนนเป็นคลื่น เป็นหลุมบ่อ ซึ่งมีบางส่วนที่ รฟท. ดูแล และบางส่วน กทม.ดูแล ก็จะประสานงานอย่างเข้มข้น เพื่อให้ประชาชนได้รับสะดวกมากขึ้น

นายชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมเรื่องที่ 3 เป็นเรื่องที่ดิน มี 3 ประเด็นที่หารือกับทาง รฟท. ได้แก่

1.การปลูกต้นไม้ กทม.มีโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ซึ่ง รฟท. น่าจะมีที่ให้ปลูกได้ โดยเฉพาะตามเส้นทางรถไฟที่พอจะให้ปลูกต้นไม้ได้ อาจจะไม่ใช้พื้นที่มากแต่ปลูกเป็นแนวกันชุมชนกับทางรถไฟ ให้เกิดร่มเงาสวยงาม และระยะทางไกลทั้งสายเหนือ สายตะวันออก และสายใต้ หรือพื้นที่ รฟท. เองที่ กม.11 ก็สามารถปลูกได้ ซึ่งผู้ว่าฯ รฟท. แจ้งว่าจะเริ่มปลูก 2,000 ต้น โดยจะทำต่อเนื่องในพื้นที่ที่ รฟท. ปลูกต้นไม้อยู่แล้ว

2.เรื่องหาพื้นที่ทำมาหากินให้ประชาชนกลุ่มหาบเร่แผงลอย โดยมีแนวคิดทำตลาดเล็กๆ ที่นำหาบเร่แผงลอยเข้ามา ให้ประชาชนทำมาหากินได้ในราคาไม่แพง เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่ง รฟท. ได้ทำไว้แล้วบริเวณคลองตัน จะพยายามหาความร่วมมือขยายผลต่อไป

3.เรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่อาจต้องมีหลายหน่วยงานมาเกี่ยวข้อง ทั้งการเคหะ รฟท. และ กทม. มีแนวคิดหาพื้นที่ให้ผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงาน โดยจัดหาพื้นที่ทำอาคารเช่า และสามารถทำให้เกิดแหล่งที่อยู่อาศัยที่อยู่ในเมือง เดินทางไม่ไกล ก็จะช่วยเรื่องปัญหาจราจรและช่วยค่าครองชีพของคนรุ่นใหม่ โดยให้เช่าแบบกำหนดระยะเวลา ซึ่งจะหารือกันต่อไป

นอกจากนี้ยังมีการหารือเรื่องของการบริหารจัดการสวนสาธารณะ เช่น สวนรถไฟ ซึ่ง กทม.เป็นผู้บริหารจัดการ ขณะที่ รฟท. ดูแลโครงสร้างพื้นฐาน มีบางส่วนที่ กทม.ต้องปรับปรุง เช่น ทางจักรยาน ทั้งนี้ จะมีการตั้งคณะทำงานชุดย่อยในแต่ละเรื่อง ประสานงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องหนี้กับ รฟท. นั้นไม่ต้องกังวล เพราะเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับรัฐ เคลียร์กันได้ แค่ตกลงให้ถูกต้องตามสัญญา เรามองไปอนาคตมากกว่า ตอนนี้ตลาดนัดจตุจักรคนเดินน้อย ผู้ค้าไม่มี แต่นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาแล้ว จะกระตุ้นเศรษฐกิจหรือมียุทธศาสตร์อย่างไรในการวางแผนตลาดนัดจตุจักรในอนาคตเรื่องนี้สำคัญกว่า

"ขอบพระคุณ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เราก็คงมีความร่วมมือกันในทุกๆ ด้านและเห็นผลได้ในเวลาอันใกล้นี้" ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว